นิยาย VS ละครโทรทัศน์ #1
นักเขียน / นิยาย / บทสัมภาษณ์ / บทโทรทัศน์ / ปัญญ์ปรียา / หนังสือ / Uncategorized

นิยาย VS ละครโทรทัศน์ #1

ทำไมทำละครไม่เหมือนในนิยาย? ในนิยายเรื่องไม่ได้เป็นแบบในละคร? ทำไมไม่มีตัวละครตัวนี้ในละคร? ฉากนี้ไม่มีในนิยายนี่? และอีกหลายคำถามที่เกิดขึ้นเมื่อหนังสือนิยายหลายเรื่องได้ไปทำเป็นละคร  เนื้อเรื่อง เหตุการณ์ ตัวละครและองค์ประกอบอีกหลายอย่าง ถูกดัดแปลงให้ต่างจากนิยาย ไปเป็นละครแล้วขัดใจคนอ่าน ทั้งที่นิยายสนุกมาก แต่พอทำละครแล้วไม่ชอบเลย ฉันก็ ‘เคย’ รู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน ที่ใช้คำว่า ‘เคย’ เพราะตอนนี้ นอกจากเขียนนิยายแล้ว ฉันก็มีโอกาสได้เขียนบทโทรทัศน์ แล้วก็พบว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้นิยายกับละครโทรทัศน์แตกต่างกัน สิ่งแรกที่นิยายกับละครโทรทัศน์แตกต่างกัน ซึ่งทุกคนคงเห็นได้ชัดเจน ก็คือรูปแบบของสื่อ นิยายสื่อสารผ่านตัวอักษร ที่กระตุ้นให้เกิดการจินตนาการ คนอ่านสามารถสร้างภาพทั้งหมดขึ้นในหัวได้ อยากให้เป็นอย่างไรก็ได้ อีกทั้งการตั้งใจและจัดสรรเวลาในการอ่านหนังสือ ทำให้คนอ่านมีสมาธิจดจ่อกับเนื้อหาของเรื่องได้เต็มที่ ละครโทรทัศน์ เป็นสื่อที่มีทั้งภาพและเสียง ทุกอย่างถูกเตรียมมาเพื่อให้คนดูไม่ต้องจินตนาการมาก เพราะไม่ใช่ทุกคนจะนั่งดูละครอยู่หน้าทีวี บางคนเปิดทีวีทิ้งไว้ ทำกับข้าว รีดผ้า เล่นคอมพิวเตอร์ไปด้วย ทำให้ละครต้องหาทางทำให้คนดูสนใจด้วยตัวมันเองให้มากที่สุด ไม่แปลกถ้าบางครั้งตัวละครจะพูดคนเดียว เพราะคนดูอาจกำลังกินข้าวอยู่ ไม่ต้องเงยหน้าดูก็รู้ว่าเรื่องเป็นยังไง…และที่สำคัญ คนดูมีอำนาจอยู่ในมือนั่นคือ ‘รีโมท’ ที่พร้อมจะกดเปลี่ยนช่องได้เสมอ  ถ้าเรื่องราวไม่น่าสนใจเพียงไม่กี่วินาที คนดูจะกดเปลี่ยนช่องทันที ทำให้คนทำละครต้องทำทุกทางเพื่อดึงคนอยู่ให้อยู่ ก่อนเข้าโฆษณาก็หาทางปิดฉากให้ลุ้นจนคนดูต้องรอดูให้ได้ ด้วยลักษณะของสื่อและพฤติกรรมของคนรับสื่อที่ต่างกัน เลยมีผลทำให้นิยายเมื่อมาเป็นละคร จะต้องถูกปรับเปลี่ยนอย่างแน่นอน แต่ไม่ได้หมายความว่า คนทำละครจะสนใจแต่ความสนุกและการดึงคนดูเพียงอย่างเดียว … Continue reading