นักเขียน / พรรษพร ชโลธร / ระหว่างบรรทัด / วัสส์ วรา / สอนเขียน / เนื้อหาสาระ

ระหว่างบรรทัด: “ความเยอะ” กับบทบรรยาย

woodtype-846089_960_720

เคยตั้งคำถามไหมคะว่านิยายที่เราเขียนควรจะบรรยายเยอะหรือน้อยแค่ไหน บรรยายเยอะหรือน้อยดีกว่ากัน

คำตอบคือ “เยอะในที่ที่ควรเยอะ และน้อยในที่ที่ควรน้อย”

พูดแบบนี้อาจจะฟังดูกวนประสาท แต่ความน้อยหรือความเยอะนั้นไม่มีกฎตายตัว แต่ขึ้นกับปัจจัยหลายๆ อย่าง ในที่นี้เราจะพูดถึงปัจจัย 3 อย่างที่เห็นได้ชัดนะคะ นั่นคือ 1.กลุ่มลูกค้า 2. Pacing 3. จุดเน้น

  1. กลุ่มลูกค้า

เราต้องรู้ก่อนว่าเรากำลังเขียนหนังสือให้ใครอ่าน เพราะนิยายแต่ละแบบก็จะมีกลุ่มลูกค้าไม่เหมือนกัน ปัจจัยต่างๆ เช่น ช่วงอายุของคนอ่าน จะเป็นตัวกำหนดว่านิยายควรบรรยายเยอะหรือน้อยอย่างไร

ต้องบอกก่อนว่าโดยภาพรวมแล้วนิยายจะบรรยายน้อยลงเรื่อยๆ ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เพราะโลกเราทุกวันนี้เร็วขึ้น คนเราเคยชินกับการเสพสื่อที่เร็วขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นงานศิลปะแทบทุกอย่างก็จะเร็วขึ้นตามโลกเหมือนกัน เราจะเห็นว่าละครเดี๋ยวนี้สั้นขึ้น เดินเรื่องเร็วขึ้น เพลงมีจังหวะรวดเร็วขึ้นกว่าเมื่อห้าสิบปีก่อน นิยายเองก็เร็วขึ้นเหมือนกัน ด้วยการบรรยายที่น้อยลงนี่เอง

แต่ถึงอย่างนั้นจะสรุปฉัวะไปเลยว่างั้นก็ไม่ต้องบรรยายอะไรมากก็ไม่ถูก เราต้องดูด้วยว่ากลุ่มลูกค้าที่เราเขียนให้อ่านคือใคร เราอาจเคยได้ยินถึงพฤติกรรมที่ต่างกันของคนยุคเบบี้บูมเมอร์ เจ็นเอ็กซ์ เจ็นวาย ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่อง “เด็ก” กับ “ผู้ใหญ่” นะคะ แต่เป็นเพราะคนเหล่านี้เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่ต่างกันและมีความเคยชินต่างกัน ความเคยชินในการอ่านนิยายก็เหมือนกัน คนอ่านที่เป็นรุ่นก่อนๆ จะชินกับบทบรรยายที่เยอะกว่าคนอ่านรุ่นใหม่ๆ ซึ่งโตมากับข้อความสั้นๆ และสื่อมัลติมีเดียมากกว่าสิ่งพิมพ์ยาวๆ บนกระดาษ ดังนั้นถ้าเราเขียนนิยายที่เจาะกลุ่มคนอ่านรุ่นใหญ่หน่อย เราก็อาจต้องบรรยายเยอะกว่าเขียนให้เด็ก

ไม่ใช่แค่วัย แต่เซคชั่นของกลุ่มลูกค้าในตลาดก็มีส่วนค่ะ ลูกค้ากรุ๊ปต่างๆ ต้องการสินค้าไม่เหมือนกัน แบบที่ละครช่องสามกับช่องเจ็ดมีกลุ่มลูกค้าหลักๆ ไม่เหมือนกันนั่นแหละ ลูกค้าบางกลุ่มก็ชอบบทบรรยายที่ “ลุ่นๆ” กว่าบางกลุ่ม บางกลุ่มต้องการความเข้าใจง่ายไม่เยอะไม่ซับซ้อน บางกลุ่มต้องการความแรง บางกลุ่มต้องการความละเมียด เราต้องรู้นะคะว่าเราเขียนให้ใครอ่าน หรือถ้าส่ง สนพ. ก็ควรรู้ว่า สนพ. ที่เราส่งนั้นกลุ่มลูกค้าของ สนพ. เป็นใคร

  1. Pacing

Pacing ก็คือจังหวะความเร็วของเรื่อง คำถามคือเราต้องการให้เรื่องของเราทั้งในภาพรวมและในตอนนั้นๆ เดินเร็วหรือช้าแค่ไหน จริงๆ Pacing เป็นเรื่องค่อนข้างซับซ้อนและการกำกับ Pacing ให้เหมาะสมก็มีความสำคัญต่อนิยายมาก แต่ในที่นี้จะพูดถึงหลักการคร่าวๆ คือเมื่อเราบรรยายเยอะขึ้น จังหวะเรื่องของเราจะช้าลง เมื่อบรรยายน้อยลง จังหวะจะเร็วขึ้น

ดังนั้นถ้าเราต้องการเรื่องที่ดูปรู๊ดปร๊าด ฉับไว (เช่น เป็นนิยายบู๊ คอเมดี้ ฯลฯ) ก็ลดบทบรรยายให้น้อยหน่อย แต่ถ้าเป็นดราม่าละเลียดบีบอารมณ์แล้วบีบอารมณ์อีก ก็ต้องบรรยายให้เยอะกว่า และไม่ใช่แค่ภาพรวมของเรื่องเท่านั้น ในนิยายเรื่องหนึ่งๆ ฉากแต่ละฉากจะมีความเร็วช้าไม่เท่ากันเสียทีเดียวนัก แล้วแต่ต้องการเร่งจังหวะ สร้างความเร้าใจตื่นเต้นตรงจุดไหน (แต่ควรจะสมดุลกัน ไม่ใช่บางฉากเร็วจนหัวทิ่ม บางฉากช้าจนเต่ายังอาย) ฉากบางฉากที่ต้องการเน้นให้ไปเร็วกว่าบางฉาก ก็ทำได้ด้วยการลดการบรรยายในฉากนั้นๆ เช่นกันค่ะ

  1. จุดเน้น

พึงตระหนักไว้ว่า “สิ่งที่บรรยายเยอะคือสิ่งที่เราเน้น”

ลองนึกภาพนิยายเรื่องหนึ่งเป็นเหมือนหนัง สิ่งที่บรรยายผ่านๆ คือสิ่งที่กล้องกวาดผ่าน สิ่งที่บรรยายเยอะคือกล้องแช่อยู่ตรงนั้น และสิ่งที่บรรยายเจาะรายละเอียดมากๆ คือกล้องซูม เพราะเมื่อเราบรรยายอะไรเยอะ ก็แปลว่าคนอ่านต้องใช้เวลาอยู่กับสิ่งนั้นเยอะ และเห็นรายละเอียดของสิ่งนั้นเยอะตามไปด้วย

นักเขียนบางคนติดว่าจะต้องบรรยายใช้ภาษาสวยๆ เยอะๆ บรรยายลมฟ้า บรรยายฉาก แต่ปรากฏว่าไปบรรยายผิดที่ ทำให้โฟกัสของเรื่องเสียไปหมด กลายเป็นเหมือนหนังที่ไปซูมท้องฟ้า ซูมต้นไม้ เปรอะไปทั่วทั้งๆ ที่เรื่องไม่ได้เน้นตรงนั้น ส่วนบางคนมาสายตรงข้าม ก็ท่องมาว่าต้องกระชับๆๆๆ ทุกอย่างกระชับ อ่านรู้เรื่องพอ ที่เหลือแปลว่าเกิน ทำให้ตัดรายละเอียดทุกอย่างทิ้งเยอะมาก กลายเป็นเหมือนหนังที่กล้องถ่ายผ่านคร่าวๆ ทุกอย่าง เหมือนไม่เน้นอะไรเลย ก็ทำให้โฟกัสของเรื่องเสียเหมือนกัน

ประเภทของหนังสือก็มีส่วนสำคัญในการกำหนดว่าเราควรเน้นอะไรในการบรรยาย เช่น นิยายบู๊ อาจจะลงรายละเอียดฉากแอคชั่น ลักษณะของอาวุธเยอะ (รายละเอียดอาวุธสงครามรุ่นนั้นรุ่นนี้พร้อมออปชั่นมาหมด) แต่บรรยายอย่างอื่นข้ามๆ พระเอกหน้าตายังไงบอกสักหนึ่งหรือสองบรรทัดก็พอ ในทางตรงข้ามนิยายรักอาจจะชมโฉมพระเอกสามหน้ากระดาษ (นี่ก็เวอร์ไป) บรรยายอารมณ์เยอะแยะ แต่เวลายิงกันนี่บอกแค่ควักปืนออกมายิง จบในหนึ่งบรรทัด นิยายทริลเลอร์/สยองขวัญอาจจะเน้นบรรยายบรรยากาศอารมณ์สยอง การกระเสือกกระสนหนีตายของตัวเอก (ฟ้ามืด วิ่งไปสะดุดรากไม้ เสียงลมหายใจ เสียงอีการ้อง ประกายขวานของฆาตกรที่เงื้อมา…) นิยายแฟนตาซีอาจจะต้องบรรยายโลกที่สร้างมาเยอะกว่านิยายอื่นๆ ฯลฯ

แต่กระทั่งสิ่งที่ “เน้น” ในแนวหนังสือนั้นๆ ก็ไม่จำเป็นต้องบรรยายเยอะเรื่อยเปื่อยไปทั้งเรื่อง ลองนึกถึงการ์ตูนทำอาหารก็ไม่ได้บรรยายรสชาติวัตถุดิบทุกชนิดหรือขั้นตอนการทำอาหารทุกขั้นมันเสียทุกจาน ตอนตัวเอกซ้อมทำอาหารอาจจะบรรยายคร่าวๆ หรือบรรยายแค่สิ่งที่ทำผิดแล้วบรรลุสัจธรรม หรือค้นพบอะไรใหม่ เวลาไปแข่งก็อาจจะเจาะเรื่องวัตถุดิบสุดเจ๋งที่เป็นเคล็ดลับ เทคนิคพิเศษ อาหารจานเอก ฯลฯ แทนที่จะมัววาดรูปการเอาน้ำมันใส่กระทะหรือบอกวิธีเลือกปลาสดว่าตาต้องใส (ซึ่งพบได้ในตำราเรียน) นิยายของเราก็เหมือนกัน ควรบรรยายเยอะมากๆ เฉพาะจุดที่ต้องการเน้นให้เด่นจริงๆ และเน้นสิ่งที่รองลงมาลดหลั่นกันไปค่ะ

วันนี้จบเรื่องการบรรยายไว้แค่นี้ บล็อกหน้าอาจจะเป็นอะไรเบาๆ คั่นเวลานะคะ ถ้ามีใครอยากอ่านเรื่องอะไรเป็นพิเศษก็เสนอมาได้ ถึงเราเขียนเองไม่ได้ก็อาจเอาไปเสนอสมาชิกพิมพ์ดีดคนอื่นๆ ให้เขียนให้อ่านกันค่ะ

Leave a comment