ชีวิตการงาน / นักเขียน / บันทึกเรื่อยเปื่อย / พัณณิดา ภูมิวัฒน์ / พิมพ์ดีด / ลวิตร์ / สอนเขียน / หนังสือ

บันทึกเรื่อยเปื่อย : Character-based กับ Plot-based (3)

laughter-benefits7

 

คราวที่แล้วบอกไว้ว่าจะพูดถึงการเขียนทั้งสองแบบเวลาปฏิบัติจริง จุดที่ควรระวัง และจุดที่ควรพัฒนา

แต่ก่อนอื่นก็ต้องบอกซ้ำอีกทีว่า ปรกติแล้วไม่มีใครเป็นพล็อตเบสหรือคาแรคเตอร์เบสแบบเพียวๆ หรอกค่ะ

ดังนั้นที่จะบอกต่อจากนี้ จึงเป็นเพียงกรณีที่สมมุติว่าคนคนหนึ่งเป็นคาแรคเตอร์เบสหรือพล็อตเบสแบบสุดขั้วเท่านั้น เมื่อคุณอ่านแล้ว ขอให้คิดว่านี่เป็นเพียงข้อเสนอ เป็นไอเดียเอาไว้ไปลองดูด้วยตัวเอง หาส่วนผสมที่เข้ากับตัวเองที่สุด แต่อย่าไปคิดว่ามันจะมีแค่นี้ หรือแค่นี้ก็เป็นที่สุดแล้ว เพราะคนเราไม่มีใครเหมือนกันเลย ดังนั้นแต่ละคนจึงต้องหารูปแบบที่เหมาะสมด้วยตัวเองค่ะ

###

คาแรคเตอร์เบส

บอกไว้เป็นคีย์เวิร์ดเลยว่า “คาแรคเตอร์เบสต้องดูแล ‘ใจ’ ของตัวเองก่อน” ค่ะ

ทำไมจึงว่าให้ดูแลใจตัวเองก่อน เพราะเราเห็นว่า คาแรคเตอร์เบสส่วนใหญ่นั้นเขียนด้วยการสิงตัวละคร ตัวละครรู้สึกอย่างไรก็รู้สึกตามตัวละครด้วย จึงเป็นการเขียนบนฐานของความรู้สึกและอารมณ์

การเขียนด้วยอารมณ์คืออย่างไร

คือตัวละครรู้สึกอะไร เราก็รู้สึกด้วย มันโกรธเราโกรธ มันร้องไห้เราร้องไห้ ความอินก็มากน้อยไปตามเรื่อง แต่เรื่องที่อินจริงๆ คนเขียนจะสูญเสียพลังในระดับเดียวกับที่ตัวละครเสียเลยทีเดียว

จริงๆ แล้วอารมณ์เป็นพลังงานอย่างหนึ่ง ถ้าคุณใช้ไปมาก คุณก็เหนื่อยได้เหมือนวิ่งนี่แหละค่ะ เพราะอย่างนั้นบางคนจึงบอกว่า เขียนนิยายแล้วเหนื่อย คนฟังอาจจะงง ทำไมเหนื่อยวะ นั่งจิ้มแป้นอยู่เฉยๆ แต่มันเหนื่อยเพราะใช้พลังใจค่ะ คล้ายๆ กับทำไมเวลาคุณหดหู่คุณถึงเหนื่อย ทำไมคุณทะเลาะกับชาวบ้านคุณถึงเหนื่อยนี่เอง

การใช้อารมณ์ในการเขียนนั้น มีจุดดีมากๆ คือทำให้คนอ่านเกิดอารมณ์คล้อยตามได้ง่าย ถ้าคุณมือถึง คุณจะเป็นนักเขียนผู้สามารถทำให้คนอ่านมีความสุข เศร้า ดีใจ เสียใจ อึนเวิ้ง หม่นหมองประคองอารมณ์ ฯลฯ ได้ อารมณ์เหล่านี้ถ้ามากถึงขั้นที่ประทับใจคนอ่าน เขาก็จะจำคุณได้ และเขาจะกลับมาหาคุณอีกเมื่อต้องการการตอบสนองทางอารมณ์อย่างนั้น เรียกว่าเป็นเครื่องหมายการค้าเลยละค่ะ

แต่มันก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน

การใช้อารมณ์ได้มากนั้นมักจะเกิดจากสภาพทางจิตวิทยาของเจ้าตัว พูดง่ายๆ คือนักเขียนคาแรคเตอร์เบสอ่อนไหวกว่านักเขียนพล็อตเบสมากค่ะ (บางกรณีก็มากๆๆๆ)

บรรดานักเขียนที่เราได้ยินได้เห็นกันว่าซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย กินเหล้าติดยา ติดไรเตอร์บล็อคสามปีห้าปียี่สิบปีทั้งหลายนั้น คาแรคเตอร์เบสทั้งนั้นแหละค่ะ -w-”

แน่นอนว่าคุณอาจจะไม่มีอาการมากถึงระดับนั้น แต่ถึงอย่างไรคุณก็จะมีแนวโน้มนี้ติดตัวอยู่ดี ซึ่งวิธีแก้ไม่ใช่ไปพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นพล็อตเบส เพราะข้อดีของคุณอยู่ที่พลังในการใส่อารมณ์ ถ้าคุณไปแก้ด้วยการโอเค…เลิกใส่อารมณ์ทันที เปลี่ยนไปทำงานตามพล็อต วางตารางเป๊ะๆ แต่บัดนี้ อย่างเบาคุณจะสูญเสียพลังอารมณ์ อย่างหนักคุณจะบล็อคแรงกว่าเดิมค่ะ

วิธีที่ดีเวลาคาแรคเตอร์เบสเจอปัญหา ประการแรกเหนือสิ่งอื่นใด คือทำให้ใจกลับเป็นปรกติให้ได้ก่อน

ทำยังไงก็ได้ ให้ใจคุณกลับมาอยู่ในสภาพปรกติ ไม่กลัว กังวล อิจฉา กดดัน โกรธแค้น หดหู่ ฯลฯ

ที่ดีที่สุดสำหรับนักเขียนคาแรคเตอร์เบสคือ ขอให้คุณเซ็ตอัพระบบอะไรสักอย่างที่จะซัพพอร์ตจิตใจของคุณเอาไว้ เช่นมีกลุ่มเพื่อนที่คุณจะไปพร่ำพรรณนายามเขียนไม่ออกได้ (โดยที่เขาไม่พยายามแนะนำให้คุณเป็นสิ่งที่คุณไม่ได้เป็น) มีงานอดิเรกและกิจกรรมที่จะหันไปทำเวลาตัน เช่นตันแล้วก็ออกไปวิ่งทางไกลอย่างบ้าคลั่ง ตันแล้วไปทำกับข้าว อะไรก็ได้ที่จะพาใจคุณออกไปจากจุดที่ติดอยู่น่ะค่ะ

เมื่อใจคุณมาอยู่ในสภาพปรกติ คุณจะเริ่มมองเห็นเองว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร (เราถึงบอกให้ดูแลตัวเองก่อน)

ปรกติแล้ว ปัญหาที่คาแรคเตอร์เบสเจอนั้นคือ

1. ตามใจตัวเองมากเกินไปจนไม่ยอมทำงาน (เพราะคุณเป็นสายอารมณ์)

2. จิตตกจนทำอะไรไม่ได้ (เพราะคุณเป็นสายอารมณ์อีกนั่นแหละ)

ในกรณีเหล่านี้ การดึงข้อดีของพล็อตเบสมาช่วยแบบนิดๆ หน่อยๆ ก็เป็นทางแก้ที่ดีค่ะ (อย่าดึงแบบเต็มสตรีมนะคะ แรกๆ เปอร์เซ็นต์เดียวก็พอแล้ว)

เช่นคุณอาจจะเริ่มวางตารางให้มีระเบียบมากขึ้น หัดวางพล็อตดูว่าเวิร์คไหม (แบบคร่าวๆ ไม่ต้องละเอียดมาก เพราะคาแรคเตอร์เบสมักจะเบื่อเวลามีพล็อตละเอียด) หรือหัดมองงานของคุณด้วยสายตาแบบ objective ดูบ้าง (ในระดับหนึ่ง)

แต่ที่สำคัญที่สุด (ย้ำอีกที) คือคุณต้องดูแลจิตใจตัวเองก่อน เพราะคุณมีแนวโน้มจะเขียนได้ดีตอนที่อารมณ์เป็นปรกติค่ะ

(อีกตอนที่จะเขียนได้คือ 1. มีอารมณ์อันรุนแรงมาก เช่นเศร้าสุดชีวิต แต่สภาพนี้จะไม่มาบ่อย และไม่ดีกับสุขภาพจิตโดยรวมของคุณด้วย 2. เจอเดดไลน์ ซึ่งจิตใจกระเจิดกระเจิงจนปลดภาระทางอารมณ์ไปได้โดยอัตโนมัติ แต่คุณไม่ควรใช้ชีวิตกับเดดไลน์ เพราะมันไม่ดีกับคนที่ทำงานด้วย และสุดท้ายจะไม่ดีกับตัวคุณเอง)

นอกจากนี้ คาแรคเตอร์เบสควรทราบด้วยว่า งานของคุณมักจะมีซิกเนเจอร์บางอย่างชัดมาก และจะเปลี่ยนแนวยากมากด้วย เช่น คุณจะเขียนตัวละครได้ในเรนจ์อารมณ์หนึ่งเท่านั้น หรือเขียนเรื่องได้ไม่กี่แพทเทิร์น ที่เป็นอย่างนี้เพราะคุณเขียนเรื่องออกมาจากตัวคุณ คุณคือที่มาเรื่องราวทั้งปวง

วิธีที่จะจัดการกับเรื่องนี้ได้ มีอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือคุณก็เขียนต่อไปนั่นแหละ ทำให้มันดี ให้มันโดดเด่น ให้มันเข้ามือคุณสุดๆ ไปเลย ไม่ต้องสนใจว่าคนจะบอกว่าซ้ำ บอกว่าคุณทำได้แบบเดียว หรือบอกว่าอะไร ให้ดูมุราคามิก็แล้วกัน มุราคามินี่มีแพทเทิร์นอยู่แบบเดียวแหละค่ะ คือแพทเทิร์นแห่งความเป็นมุราคามิอันพิสดารและเวิ้งว้าง (ซึ่งใครเคยอ่านคงเข้าใจ) หรือนักเขียนรางวัลโนเบล เฮอร์มาน เฮสเส เรื่องทุกเรื่องของเขาก็ “เหมือนกัน” ค่ะ เพราะทุกเรื่องที่เขาเขียนมันคือหัวใจของเขาเอง เขาใช้จิตใจของตัวเองเป็นเวทีของเรื่อง ยิ่งเขียนไป เขาก็ยิ่ง “อ่าน” ตัวเองได้ลึกขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าตัวละครก็จะมีเซ็ตที่คล้ายๆ กัน สถานการณ์ก็คล้ายๆ กัน (ในบางระดับ) เพราะมันก็คือตัวเฮสเสเอง แต่คนอ่านก็ตามอ่าน และติดตามพัฒนาการทางจิตวิญญาณของเฮสเสไปเรื่อยๆ ด้วยเหมือนกัน

อีกวิธีหนึ่ง คือคุณลองเก็บข้อมูลเพิ่มขึ้น ทำอะไรที่แตกต่างออกไปจากเดิมบ้าง ซึ่งอาจจะทำให้คุณเห็นมุมมองใหม่ๆ ของตัวเองขึ้นมาก็ได้ หรือถ้าจิตใจปรกติดี ไม่ได้กำลังกดดันตัวเอง จะลองเล่นเลียนแบบพล็อตเบสดูสักครั้งสองครั้งก็ไม่เห็นเป็นไร ส่วนใหญ่สุดท้ายแล้ว เราคิดว่าคาแรคเตอร์เบสก็จะไม่กลายเป็นพล็อตเบสไปง่ายๆ หรอกค่ะ แต่คุณอาจจะเรียนรู้วิธีคอนโทรลอารมณ์ของตัวเองในบางฉากบางตอนได้ ไม่ใช่ใส่ไปไม่ยั้งแล้วทำให้คุณเขียนไม่ได้อีกเลยไปอีกสามปีห้าปี

อืม เอาเป็นว่าเราเห็นว่านักเขียนคาแรคเตอร์เบสต้องดูแล “ใจ” ของตัวเองค่ะ อย่าปล่อยตามใจมากเกินไป แต่ก็อย่าปล่อยให้มันแห้งแล้งเหี่ยวเฉามากเกินไป

4 thoughts on “บันทึกเรื่อยเปื่อย : Character-based กับ Plot-based (3)

  1. เราเป็นคาแรคเตอร์เบสที่มีความคิดครอบคลุมแบบพล็อตเบส ที่เวลาเล่นพล็อตจะวางมาร์กเหตุการณ์ไว้เป็นจุดๆ ตั้งแต่ต้นจนจบไปเลย เป๊ะๆ ถ้าไม่จำเป็นจะไม่เปลี่ยนเด็ดขาด ก่อนจะค่อยๆ ซูมไปรับรู้การกระทำและความรู้สึกของตัวละครในแต่ละเหตุการณ์

    ซึ่งบางทีจะมีปัญหาตรงที่พอเรากลับมามองแบบภาพรวมปุ๊บ เราเห็นตัวละครทุกตัวอยู่บนกระดานความคิด ปรากฏว่าความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาประดังประเดเข้ามาพร้อมกันจนทำเอามึนไปเป็นวันก็มี หรือบางที ทั้งที่เราเป็นคนสร้างเหตุการณ์นั้นขึ้นมา (ในรูปแบบพระเจ้า) แต่พอเห็นว่าเมื่อตัวละครเราเดินไปถึงแล้วมันเป็นยังไงนี่แทบจะอยากเปลี่ยนกลางคันกันขึ้นมาเลยทีเดียว แต่สุดท้ายก็ได้แค่นั่งร้องไห้เป็นบ้าเป็นหลังแทนเพราะเปลี่ยนไม่ได้ มันเป็นชะตากรรมของเขา มันเป็นสิ่งที่เขาต้องเจอ

    เพราะงั้นทั้งหมดที่ว่ามา เห็นด้วยมากเลยค่ะ โดยเฉพาะการดูแล ‘ใจ’ ไม่ให้ได้รับความรู้สึกหนักมากไปจนเกินพอดี อย่างวิธีของเรา จะใช้การนอนเป็นตัวรีเซตตัวเอง ถ้ายังไม่ดีเท่าที่หวังก็อาจจะหาอะไรมาอ่านเพื่อเปลี่ยน + ดึงอารมณ์เอาแทน

    PS. อันนี้ไม่รู้ว่าคนเขียนบล็อคเป็นมั้ย ที่เวลาอ่านงานของคนเป็นคาแรคเตอร์เบสจะรู้สึกว่าตัวเองรับเทสอารมณ์ของตัวละครมาได้มากกว่าปกติ มากกว่าคนอื่นๆ อย่างบอกไม่ถูก ทางนี้บางทีก็พาลทำเอานั่งหง่าวทำงานไม่ได้ไปนานเลยล่ะค่ะถ้าไม่กระตุ้นตัวเอง (ฮา)

    Like

    • ปรกติจะรู้ว่าคนไหนคาแรคเตอร์เบสด้วยฟีลประมาณว่า เห็นภาพตัวละครเคลียร์กว่า หรือตกไปอยู่ในโลกของคนเขียนได้ลึกกว่า แต่ไม่ค่อยแฮงค์เพราะอารมณ์หรือบรรยากาศเรื่องค่ะ จะแฮงค์เวลาที่สิ่งที่มากระทบมันซับซ้อนยุ่งเหยิงจนแยกไม่ออก (เช่นเพิ่งไปดู Danish Girl มา นี่ก็แฮงค์นิดๆ) คือต้องนั่งสางปมทางอารมณ์ นอกจากนั้นก็อ่อนไหวกว่าชาวบ้าน เวลาดูหนัง อ่านหนังสือจะร้องไห้ง่าย (แต่ฉากที่ชาวบ้านร้องไห้ บางทีทางนี้ก็ไม่ร้อง)

      Like

      • อาจเป็นเพราะมุมมองที่ต่างกันด้วยล่ะมั้งคะ เราก็เป็นเหมือนกัน บางทีมันกระทบเราแต่ไม่กระทบเขา หรือกระทบเขาแต่ดันไม่โดนเราซะงั้น ทางนี้จะแฮงค์เพราะอารมณ์บริสุทธิ์เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็พอเข้าใจอยู่เวลาที่เส้นพาดอารมณ์มันพันกัน

        ส่วน Danish Girl นี่ยังไม่ได้ไปดูเลย ได้แต่จัดเป็นลิสต์ไว้ก่อน ว่างๆ คงต้องลองไปดูบ้างแล้ว ขอบคุณนะคะ

        Like

  2. พูดถึงเรื่องสายคาร์เบสแล้วต้องดูแลใจ อดไม่ได้ที่จะนึกถึงนักแสดงค่ะ
    สมัยเรียนปีสอง ได้ลงวิชาแอคติ้งไปคลาสหนึ่ง ในบรรดาวิธีแสดง มันมีอย่างหนึ่งที่เรียกว่า Method Acting เป็นการแสดงแบบที่ผู้แสดงสวมตัวเองเข้าไปในคาร์แรกเตอร์ทั้งหมด (ในบรรดาโจ๊กเกอร์สามคนที่มีอยู่ ทุกคนแสดงด้วยวิธีนี้กันหมดเลยค่ะ) ซึ่งในบางครั้ง เราอาจรับรู้อารมณ์ของตัวละครมากเกินไป หรือมีบางอย่างในตัวละครมากระทบใจเรามาก ๆ (เช่นมีปมแบบเดียวกัน มีคอนฟลิกในเรื่องแบบที่เคยผ่าน หรือความรีเลทบางอย่างทางอารมณ์ ฯลฯ) บางครั้งก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Character Bleed เส้นแบ่งระหว่างนักแสดงกับตัวละครจะบางลงมาก ๆ หรือในบางกรณีอาจจะหายไปเลย (ขึ้นอยู่กับบทบาทและความสอดคล้องทางอารมณ์) ในบางคนนอกจากเรื่องอารมณ์แล้ว แนวคิดของตัวละครก็อาจมีอิทธิพลต่อความคิดของตัวเองไปด้วย ทำนองเข้าทรงแล้วเชิญออก(?)ไม่หมด อะไรทำนองนั้นค่ะ ซึ่งพอมาเทียบกันการเขียนของสายคาร์เบส ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่ามันคล้ายกัน

    ตัวเราเองก็เป็นสายคาร์เบสค่ะ แล้วก็พบว่าการเป็นสายคาร์เบสส่งผลกระทบต่องานที่ต้องทำส่งอาจารย์มาก ๆ (เราเรียนสายภาพยนตร์ค่ะ) มีช่วงที่วิกฤตขนาดว่าบทจะต้องส่งตรวจวันมะรืนแล้วก็ยังเข็นออกมาได้ไม่ถึงครึ่งเรื่อง แก้แล้วแก้อีกเพราะทะเลาะกับตัวละครในเรื่องจนบทไม่เดิน พอถึงจุดหนึ่งก็รู้สึกว่าไม่ได้แล้ว งานบางอย่างต้องกรองอารมณ์ตัวเองออกไปบ้างไม่งั้นจะมีปัญหา เหมือนไปเปลี่ยนหัวเทียนใหม่ เปลี่ยนเครื่องยนต์ใหม่ (ฮา) งานที่ต้องทำตามเวลา งานที่ต้องจริงจัง ก็ใช้วิธีเรียกอารมณ์อีกแบบ จัดสิ่งแวดล้อม ทำเพลย์ลิสท์ไว้คุมมู้ดตัวเอง แล้วพอเครื่องติดแล้วค่อยว่ากัน
    เคยมีปัญหาแบบคาร์แร็กเตอร์บลีดด้วยในบางครั้งค่ะต่อให้เปลี่ยนวิธีติดเครื่องใหม่แล้ว บางทีสร้างตัวละครที่มีความเชื่อมโยงกับตัวเองมากเกินไปจนเรารับรู้อารมณ์ของเขามาก รับรู้ความฝัน ความหวัง พอเขาทรมานที่ทุกอย่างพัง ก็เหมือนกับตัวเองล้มซ้ำไปด้วยอีกรอบ นั่งร้องห่มร้องไห้ไปเขียนสตอรี่บอร์ดส่งอาจารย์ไปกันเลยทีเดียว (ฮา) หรือบางครั้งเขียนอะไรสักอย่างที่มีผลกระทบต่อความคิด/อารมณ์มาก ๆ จบแล้วจะนั่งซึมไปเป็นวันเลยก็มี oTL

    เรื่องการดูแลใจตัวเองสำคัญมากจริงๆค่ะ บางทีตอนสุขภาพจิตพังแล้วจำเป็นต้องเขียนก็ยังเขียนได้นะคะ แต่งานออกมาแห้งแล้งชีวิตถึงขั้นสุด orz ปกติอาศัยการรีเซ็ตหัวด้วยการนอนค่ะ ฮา อาจเพราะเน้นเขียนช่วงกลางคืนด้วย พอไปนอนทุกอย่างเลยเคลียร์ออกไปได้หมด (แต่บางครั้งตื่นมาอารมณ์ค้างอยู่อีกก็มี orz) ไม่อย่างนั้นก็ไปนั่งคุยกับต้นไม้ที่ระเบียง รดน้ำเสร็จแล้วก็บ่นให้ลูกๆฟังว่าตอนนี้ไม่โอเคกับอะไรยังไงอยู่ ฟังดูเหมือนเสียสติมาก แต่ก็ได้ผลนะคะ 5555

    Liked by 1 person

Leave a comment