ชีวิตการงาน / พิมพ์ดีด / ล่าม / เนื้อหาสาระ / BabelBabe

เรื่องเล่าของล่ามสาว: รู้จักกับงานล่าม (1)

Tourguide

ภาพ: ตัวอย่างชุดหูฟัง

มีคำถามจากทางบ้านเข้ามาว่าล่ามทำอะไรกันแน่ ตู้และอุปกรณ์ต่างๆ หน้าตาเป็นอย่างไร ฯลฯ ก็เลยคิดว่าน่าจะมาเขียนเล่าเรื่องวิชาชีพและประเภทงานเสียหน่อย ย้ำกันอีกทีนะคะว่าเราไม่ได้ร่ำเรียนอย่างเป็นทางการ ข้อมูลที่มีเป็นการเขียนตามความเข้าใจของเรา ถ้าไม่ตรงตามตำรา ก็ต้องขออภัยค่ะ

ก่อนอื่น ขอเริ่มจากความแตกต่างของการล่าม (interpreting) และการแปล (translating) เว็บไซต์ของ AIIC (International Association of Conference Interpreters) ซึ่งเป็นสมาคมวิชาชีพระดับนานาชาติ อธิบายว่าข้อแตกต่างมีอยู่สามอย่าง

1. โหมดของภาษา: การล่ามคือการถ่ายทอดคำพูดจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่ง ในขณะที่การแปลคือการถ่ายทอดคำเขียนจากภาษาหนึ่งไปอีกภาษาหนึ่ง (แอบเล่า: ครั้งหนึ่งเคยมีลูกค้าโทรมาติดต่องานบอกว่าให้ไป “แปลสด” เพราะในการประชุมจะมีผู้บริหารออนไลน์มาจากต่างประเทศ ไอ้เราก็คิดว่าเขาหมายถึงให้ไปล่ามพูดๆ คือคนเราจะแปลสดๆ ได้ยังไง ปรากฏว่าจะให้ไปฟังแล้วพิมพ์ซับไตเติลสดๆ ซะงั้น งงเลยทีเดียว)

 

2. ข้อจำกัดด้านเวลา: ในการล่าม เราจะต้องแปลกันสดๆ ตรงนั้น ต่างกับการแปลที่มีเวลาให้ตั้งตัวและเรียบเรียงกันพอสมควร ดังนั้นการเตรียมตัวก่อนเริ่มงานจึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ สำหรับล่าม โดยเฉพาะการรับงานนอกสาขาที่เชี่ยวชาญ (ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ) ยิ่งเป็นล่ามเก๋าๆ ขอบเขตการทำงานจะยิ่งกว้างไปสุดขอบโลก สามารถแปลได้ตั้งแต่งาน OTOP ของดีประจำจังหวัดไปจนถึงวิธีการตรวจสอบสารกัมมันตรังสีด้วยเครื่องเอกซเรย์ยักษ์ที่ท่าเรือน้ำลึกและกฎหมายระหว่างประเทศ

นอกจากนี้การล่ามก็เป็นงานที่ฉับพลันเอาเร็วสุดๆ ไม่มีเวลามากูเกิ้ลค้นหาถามใครทั้งนั้น เขาพูดตอนนี้เราก็ต้องแปลตอนนี้ เคยมีคนเก็บสถิติไว้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนเราพูดได้เร็วถึง 150 คำ/นาที ดังนั้นแค่ชั่วโมงเดียวก็ปาเข้าไป 9,000 คำแล้ว ถ้าเป็นเอกสารจำนวนคำขนาดนี้ เราแปลเกือบหนึ่งสัปดาห์เต็มๆ เลยค่ะ

 

3. บริบทของการทำงาน: การล่ามจะประกอบด้วยบุคคลสามกลุ่มในขณะเดียวกัน คือผู้พูด ผู้ฟัง และล่ามที่อยู่ตรงกลาง ในขณะที่การแปลนั้น นักแปลจะทำงานกับต้นฉบับตรงหน้าเพียงอย่างเดียว การล่ามจึงต้องมีการตีความน้ำเสียงและอากัปกิริยาร่วมด้วย ในขณะที่การแปลจะเป็นการตีความต้นฉบับซึ่งระยะห่างระหว่างผู้เขียนและนักแปล / นักแปลกับผู้อ่านก็จะมากกว่า

AIIC ถึงกับสรุปไว้ว่างานล่ามนั้น จริงๆ แล้วเป็นวิชาชีพด้านการสื่อสารมากกว่าวิชาชีพด้านภาษาศาสตร์ด้วยซ้ำ

 

ทีนี้ถ้าถามว่าล่ามและนักแปลทำงานข้ามกันไปกันมาได้ไหม เท่าที่พบมาคนที่ทำอาชีพล่ามเป็นหลักส่วนใหญ่จะแปลเอกสารได้ (แต่ก็ไม่ค่อยชอบรับกันหรอก) ในขณะที่คนที่ทำอาชีพนักแปลเป็นหลักซึ่งข้ามมาทำล่ามด้วยจะมีน้อยกว่า แต่ล่ามส่วนใหญ่ก็เริ่มจากการแปลข้อเขียนมาก่อนทั้งนั้นละ

หลักๆ แล้ว เราคิดว่าเป็นเพราะบริบทของการทำงานค่ะ หนึ่งเลยก็คือเวลาทำไปทำล่าม ลูกค้าก็มักมีเอกสารประกอบ ก็จะมีการขอให้แปลเสริมบ้าง แต่เวลาแปลหนังสือนี่ก็ยากที่จะมีใครบอกว่าช่วยไปล่ามเรื่องนี้ด้วยใช่ไหมคะ สองก็คือเวลาอันจำกัด ฟังแล้วต้องแปลออกไปเลย ซึ่งหลายคนก็ไม่ถนัด/ไม่แฮปปี้กับชีวิตอันเร่งร้อนพรรค์นี้ ในขณะที่ล่ามหลายคนก็ไม่ชอบทำงานยาวๆ หลายเดือน ชอบเตรียมตัวสองสามวันแล้วเปิดปุ๊บติดปั๊บ จบประชุบกลับบ้านนอนตีพุงดีกว่า

 

เขียนไปเขียนมาชักยาว ทีแรกว่าจะเล่าเรื่องประเภทของล่ามให้จบเลยนะนี่ เปลี่ยนใจละ ขอยกไปคราวหน้าดีกว่า ขอบคุณที่ติดตามอ่านกันนะคะ พบกันใหม่คราวหน้าค่ะ

Leave a comment