นักเขียน / บันทึก 70 แกรม / สอนเขียน / เมเปิ้ลสีขาว / Uncategorized

[บันทึก 70 แกรม] รู้จักสำนวน รู้จักเอกลักษณ์ #1

vintage-1170656_960_720

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่า “สำนวน” เอาไว้ว่า

“น. ถ้อยคําที่เรียบเรียง, โวหาร, บางทีก็ใช้ว่า สํานวนโวหาร เช่น สารคดีเรื่องนี้สํานวนโวหารดี ความเรียงเรื่องนี้สํานวน โวหารลุ่ม ๆ ดอน ๆ; คดี เช่น ปิดสำนวน; ถ้อยคําหรือข้อความ ที่กล่าวสืบต่อกันมาช้านานแล้ว มีความหมายไม่ตรงตาม ตัวหรือมีความหมายอื่น แฝงอยู่ เช่น สอนจระเข้ให้ว่ายนํ้า รําไม่ดีโทษปี่โทษกลอง, ถ้อยคําที่แสดงออกมาเป็นข้อความ พิเศษ เฉพาะภาษาหนึ่ง ๆ เช่น สํานวนฝรั่ง สํานวนบาลี, ชั้นเชิงหรือท่วงทํานองในการแต่งหนังสือหรือพูด เช่น สํานวน เจ้าพระยาพระคลัง (หน) สํานวนยาขอบ สํานวนไม้ เมืองเดิม; ลักษณะนามใช้เรียกข้อความหรือบทประพันธ์รายหนึ่ง ๆ เช่น อิเหนามีหลายสํานวน บทความ ๒ สํานวน.”

จะเห็นได้ว่าคำว่า “สำนวน” มีความหมายค่อนข้างกว้างเพราะได้รวมทุกอย่างที่เป็นเกี่ยวกับการ เรียบเรียงถ้อยคำหรือข้อความเอาไว้หมดเลย ซึ่งเป็นที่มาว่าถ้าเราพูดถึงงานเขียนจะมีการพูดถึงสำนวนอยู่เสมอ ๆ ความดีงามของงานเขียนแต่ละชิ้นสามารถวัดได้ด้วยปัจจัยหลายอย่างทั้ง พลอตเรื่อง ตัวละคร ข้อมูล จังหวะเรื่อง และอื่น ๆ แน่นอนว่า “สำนวน” ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยปกติแล้วสำนวนนั้นจะพัฒนาได้ด้วยการอ่านเยอะๆ และฝึกเขียนเยอะ ๆ

การอ่านทำให้สำนวนดีขึ้นอย่างไร

1. จะช่วยให้คุณเพิ่มคลังคำในหัว เพราะว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่มีระดับการใช้งาน และบางทีสิ่งของสิ่งหนึ่งก็มีคำที่ใช้เรียกมากกว่า 1 คำ ของแสลงอย่างหนึ่งสำหรับการเขียนงานก็คือเรื่อง “คำซ้ำ” – “คำซ้อน” เวลามีคำซ้ำคำซ้อนมาก ๆ จะทำให้งานเขียนของคุณอ่านแล้วไม่ลื่นไหล การรู้คำเยอะๆ จะช่วยให้คุณหาคำอื่นๆ ที่สามารถแทนที่กันได้มาใส่ในงานเขียนได้ถูกที่ถูกเวลา ถ้าหากคุณคลังคำน้อยงานเขียนของคุณก็มีโอกาสจะเต็มไปด้วยคำที่ซ้ำ ๆ ซึ่งจะส่งผลให้เวลาอ่านงานเขียนของคุณมันจะไม่ลื่นไหล เวลางานเขียนไม่ลื่นไหล ก็จะส่งผลถึงความน่าสนใจในตัวงานเขียนด้วย ลองนึกว่าเป็นงานเขียนประเภทนิยาย หรือเรื่องสั้น ที่จำเป็นจะต้องมัดใจคนอ่านชนิดที่ว่าให้วางหนังสือไม่ลงนั้น จะเป็นอย่างไรถ้าตลอดเวลาที่อ่านนั้น เจอแต่ประโยคที่อ่านแล้วรู้สึกเหมือนสะดุดหัวทิ่มตลอดเวลา

  1. ช่วยให้คุณรู้วิธีการเรียบเรียงประโยคที่ดีขึ้น เคยสงสัยหรือไม่ว่าบางทีประโยคที่มีความหมายเดียวกัน แต่คนอื่นเขียนได้น่าสนใจกว่า ได้น่าอ่านกว่าทั้ง ๆ ที่มีความหมายเหมือนกันเลย นั่นก็อาจจะเป็นเพราะว่าเขารู้วิธีการเรียงประโยคมากกว่าเรา

  2. ช่วยให้คุณรู้วิธีการเล่าเรื่องให้น่าสนใจ มีวิธีนำเสนอได้หลากหลายขึ้น การมีวิธีการเสนอที่หลากหลายก็เหมือนกับการที่ติดอาวุธให้กับการเขียนของคุณ เพราะจะช่วยในการทำให้เรื่องน่าสนใจขึ้น บางครั้งคุณไม่จำเป็นจะต้องมีสำนวนดีมาก แค่มีสำนวนในแบบที่อ่านรู้เรื่องสื่อสารอารมณ์ได้พอประมาณ แต่คุณมีวิธีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ งานเขียนของคุณก็สามารถเอาคนอ่านอยู่หมัดเช่นกัน

 

หลังจากอ่านแล้วก็ต้องฝึกฝน การฝึกฝนจนชำนาญจะทำให้คุณเอาสิ่งที่คุณได้รับจากการอ่านมาใช้ได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรมชาติ   วิธีการเขียนของคุณดีขึ้น ก็หมายถึงสำนวนของคุณดีขึ้นด้วย ฝึกฝนมาก ๆ ใส่อารมณ์และแนวคิดของตัวเองลงไป งานเขียนของคุณก็จะมีเอกลักษณ์ขึ้นมา

                         “หลักการต่าง ๆ ที่อยู่ในหนังสือไม่มีทางเป็นจริงได้ถ้าไม่ได้ปฏิบัติ”

แต่เรื่องสำนวนก็เหมือนกับเรื่องต้นฉบับ คือมีทั้งสำนวนที่ดีกับสำนวนที่ขายดี  การที่คุณเขียนถูกหลักไวยากรณ์ไทย ใช้คำถูกต้อง เรียบเรียงแล้วอ่านง่าย ดูเรียบร้อย หมดจด สบายตา ก็เรียกได้ว่าสำนวนดี แต่สำนวนที่ขายดีในนิยายนั้นการเรียบเรียงคำหรือประโยคที่ถูกต้องอาจจะไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนให้เรื่องน่าอ่านได้

นักเขียนจำเป็นจะต้องใส่ “อารมณ์ความรู้สึก” – “แนวคิด” และ รู้การเลือกใช้คำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อสร้างความแตกต่างของตัวเรากับคนอื่น นั่นก็คือการสร้างเอกลักษณ์หรือสร้างสไตล์ของตัวเองขึ้นมา ความแตกต่างนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้คนอ่านจดจำงานเขียนของเราได้ และง่ายที่จะตัดสินใจซื้อผลงาน นักเขียนบางคนมีสไตล์โดดเด่นมากจนทำให้คนอ่านไม่แม้แต่จะดูเรื่องย่อ หรือรีวิว พอเห็นนามปากกาปุ๊บก็ซื้อปั๊บเลยก็มี นั่นคือสิ่งที่เอกลักษณ์หรือสไตล์ให้เราได้

มีประโยคหนึ่งในหนังสือ leading the way ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับการจัดการและสร้างภาวะผู้นำบอกไว้ว่่า

“เมื่อคุณประทับตราเอกลักษณ์ของคุณในสิ่งที่คุณทำ จะทำให้คนเห็นความแตกต่างของคุณ ในทางการตลาดคุณจะกลายเป็น “แบรนด์” และเมื่อคุณทำพฤติกรรมนั้นอย่างสม่ำเสมอ ทำให้คุณแตกต่างจากคนอื่น บางครั้งสไตล์มาจากสิ่งที่คุณตระหนักถึงหรือเห็นคุณค่าน้อยที่สุด บางครั้งคือความตลกขบขันของคุณ ทิศทางของคุณ หรือการที่คุณเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ทำให้คุณเป็นผู้นำที่น่าสนใจ คุณอาจต้องการเสียงสะท้อนจากคนรอบข้างเพื่อที่จะช่วยคุณในการค้นหาสไตล์ เมื่อคุณรู้จักสิ่งที่ตัวเองมี คุณถึงจะใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างเต็มที่”

 

โดยตัวหนังสือแล้วอาจจะไม่เกี่ยวกับเรื่องการเขียนโดยตรง แต่ว่าประโยคนี้สะท้อนเรื่องเอกลักษณ์ได้เป็นอย่างดี ยิ่งโดยเฉพาะบางคนมีคำถามว่าเอกลักษณ์ของฉันคืออะไร มันก็เป็นเรื่องยากที่ตัวเราเองจะค้นพบได้ แต่ก็มีหลักสังเกตง่าย ๆ อยู่บ้างเหมือนกัน ซึ่งจะพูดถึงในบล็อกถัดไปค่ะ

 

อันนี้เพจเราไปคุยกันได้ : เมเปิ้ลสีขาว

อันนี้ทางไปบล็อกที่เราเขียนทั้งหมด :บล็อกเมเปิ้ลสีขาว

ภาพ : pixabay

 

Leave a comment