ชีวิตการงาน / นราเกตต์ / นักเขียน / นึกจะเขียน / พิมพ์ดีด / สอนเขียน / Uncategorized

นึกจะเขียน : ว่าด้วยอาชีพนักเขียน

Computer-Cat-750x400

สวัสดีค่ะ มาทักทายเป็นครั้งแรกสำหรับคอลัมน์ นึกจะเขียน ซึ่งจะมาทุกเดือนละสองครั้งนะคะ เดิมทีว่าจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องการสร้างตัวละคร แต่เปลี่ยนใจขอเล่าเรื่องอาชีพนักเขียนก่อนดีกว่า ในที่นี้เฉพาะนักเขียนแบบรูปเล่ม ไม่รวมนักเขียนบทนะคะ นั่นจะเป็นศาสตร์อีกแขนง

ขึ้นชื่อว่า อาชีพนักเขียน ก็เป็นที่สนใจของคนนอกที่ทำอาชีพด้านอื่นๆ อยู่พอสมควร เวลาเจอญาติพี่น้องก็มีแต่คนสงสัยกันว่ารายได้ดีไหม เป็นยังไง เขียนอะไรบ้าง เมื่อไรจะได้ทำละคร หรือไม่ก็เขียนให้ทำละครสิจะรอดู รออ่าน

นักเขียนในจินตนาการของบุคคลทั่วไป มักจะเห็นภาพประมาณนั่งทำงานริมทะเลสาบ ฟังเสียงคลื่น เสียงดนตรี อารมณ์โรแมนติก สโลว์ไลฟ์ อยู่ในที่ๆ สายลมพัดอ่อนๆ ห้อมล้อมไปด้วยกลิ่นกาแฟและบรรยากาศชิกๆ ซึ่งก็มีส่วนหนึ่งที่เป็นอย่างนั้นจริงค่ะ แต่ก็มีอีกส่วนใหญ่เลยล่ะเป็นอะไรที่ตรงกันข้าม

ภาพนักเขียนในจินตนาการนี้ น่าจะมาจากการที่หนังหรือซีรีย์ละครสร้างขึ้นมาให้คนมองเห็นเป็นแบบนั้น บางครั้งก็เห็นตามหนังสือ เป็นภาพนิ่งของนักเขียนกับหนังสือมากมาย ดูอบอุ่นสงบสุข ช่างน่าอิจฉาจริงๆ

ในความเป็นจริงนักเขียนก็เหมือนอาชีพอื่นๆ ค่ะ ไม่ได้แตกต่างกันเลย พวกเรามีช่วงเวลาจิบกาแฟ นั่งเมาท์ (แชท) กับเพื่อนฝูง เล่นกับหมา ต่อสู้กับแมว นั่งเปิดโน่นดูนี่ แล้วก็เริ่มทำงาน พอพูดว่าเป็นงาน ความน่าเบื่อก็จะเริ่มครอบคลุมเข้ามา หากไม่ใช่สายที่มีพลังการทำลายล้างสูง ก็จะนั่งจิ้มๆ ไปเสร็จก็วอกแวกไปทำอย่างอื่นต่อ แต่ก็ไม่ใช่อะไรอย่างที่ในภาพยนตร์หรือซีรีย์นำเสนอนะ ไม่สุนทรีย์ขนาดนั้น

นักเขียนที่มีสมาธิดีจะสามารถทำงานอยู่ท่ามกลางเสียงจอแจของร้านกาแฟ หรือที่ชุมชนได้ดี อาจจะขี้เหงา หรือกลัวอยู่บ้านแล้วเกเรทำตัวเฉื่อย เขาเหล่านี้ก็จะออกไปเสาะแสวงหาพลังงานหมุนเวียนข้างนอก ไปนั่งดูดพลังชีวิตจากชาวบ้านให้รู้สึกมีความแอคทีฟ และกระตุ้นตัวเองให้ลงมือทำงานเพราะมีเวลาจำกัด เดี๋ยวร้านปิด เดี๋ยวแบตหมด เดี๋ยวๆ กินกาแฟกับขนมไปหลายอย่างแล้ว ไม่รีบทำต้นฉบับจะไม่คุ้มค่ากิน เป็นต้น

ส่วนนักเขียนอีกพวกที่เป็นพวกรักความสงบ ไม่ชอบความจอแจ พวกนี้จะไม่สามารถออกไปทำงานในสถานที่ๆ เป็นสิ่งแวดล้อมแบบเปิด ชอบทำอยู่ในระบบปิดมากกว่า อันนี้ส่วนใหญ่ก็จะปักหลักอยู่ในบ้าน ห้อง มุม ซอกใดซอกหนึ่งของสถานที่ ไม่ค่อยขุดตัวเองออกไปไหน ด้วยการรักสันโดษโลกส่วนตัวสูงนี้เอง บรรยากาศอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นในการทำงาน แสงไม่ต้องเจิดจ้ามาก ใครไม่ต้องเดินผ่าน ห้องไม่ต้องชิก ขอโต๊ะรกๆ สักตัวก็ทำงานได้แล้ว

นักเขียนพวกหลังนี่เองที่เป็นนักเขียนส่วนใหญ่ในความเป็นจริง นั่งใส่เสื้อยืดเก่าๆ ย้วยๆ ผ้านิ่มๆ เปื่อยๆ เอาแบบที่สบายที่สุด ผมยุ่งมัดลวกๆ หน้ามันย่องขอบตาดำเป็นเรื่องปกติ ถ้าอยู่ตัวคนเดียวแบบขี้เกียจก็กินจั๊งฟู้ด หรือทำอาหารอย่างง่ายๆ ไม่ค่อยชอบออกไปไหน จนบางครั้งเพื่อนแทบไม่คบ เพราะชวนไปไหนก็ไม่ไป เจอเพื่อนทีใส่แต่เสื้อผ้าชุดเดิมๆ เพราะเสื้อผ้าไม่ค่อยเก่า เนื่องจากปกติใส่แต่ชุดนอนกับชุดอยู่บ้าน ถ่ายรูปทีก็รู้สึกอับอายว่าเป็นเสื้อตัวเดิมอีกแล้ว

เหมือนเอาความจริงมาเผา กลับมาที่อาชีพนักเขียนกันต่อค่ะ อาชีพนักเขียนต้องจบอะไร? ต้องเรียนมาทางสายอักษรรึไม่? คำตอบคือ

ถ้าเป็นนักเขียนฟิกชั่น จะจบสายอะไรมาก็ได้ เรียนไม่จบเลยก็ได้ค่ะ วุฒิไม่เกี่ยวกับว่าคุณจะเป็นนักเขียนได้หรือไม่

ถ้าเป็นนักเขียนนอนฟิกชั่น อันนี้คุณจะต้องมีความรู้ในงานวิชาการที่คุณเขียนมาบ้าง อาจจะเชี่ยวชาญแตกฉานจนนำความรู้มาเขียน หรือสามารถรวบรวมข้อมูลมากพอที่จะมาเขียน จะจบมาด้านนั้นๆ โดยตรงก็ได้ แต่ขณะเดียวกันจะไม่จบมาก็ได้เช่นกัน

อาชีพนักเขียนไส้แห้งไหม เลี้ยงพ่อแม่พี่น้อง ผ่อนบ้านผ่อนรถ เที่ยวต่างประเทศ ได้เหมือนอาชีพอื่นๆ รึเปล่า อันนี้ก็เป็นคำถามในวงศาคณาญาติมากเกี่ยวกับค่าตอบแทนงานเขียนที่นักเขียนได้รับ

ถามว่าเลี้ยงชีพได้ไหม ตอบว่าได้ค่ะ แต่ถ้าถามว่าร่ำรวยไหม มีสิทธิ์ร่ำรวย และก็มีสิทธิ์ดำรงชีพได้อย่างสมถะโดยไม่เดือดร้อน ขึ้นอยู่กับว่าเขียนอะไรแนวไหน เป็นที่ต้องการของตลาดมากรึเปล่า

งานวรรณกรรมเปรียบไปก็เหมือนศิลปะแขนงหนึ่ง ความต้องการของตลาดต่องานศิลปะแต่ละชิ้นไม่เท่ากัน งานชิ้นไหนคนนิยมได้พิมพ์ซ้ำสูงก็ได้ผลตอบแทนมาก เหนื่อยครั้งเดียวพิมพ์ซ้ำเรื่อยๆ เก็บกินกันไปนานๆ งานชิ้นไหนเขียนออกมาแล้วเป็นงานเฉพาะกลุ่ม ฐานลูกค้าไม่ได้กว้าง ก็อาจจะพิมพ์ซ้ำน้อยหรือพิมพ์ครั้งเดียวก็ได้

การพิมพ์ซ้ำมาก ไม่ได้เป็นตัววัดคุณภาพของเนื้องาน ว่ามีคุณค่ามากหรือน้อย ขณะเดียวกัน งานพิมพ์ซ้ำน้อย ก็ไม่ได้เป็นตัววัดคุณภาพว่าเป็นงานที่แย่หรือไม่ดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฐานคนอ่านแฟนนักเขียน กระแสอารมณ์ของตลาดในขณะนั้นจะเป็นตัวกำหนดอีกทอดหนึ่ง

รายได้ของนักเขียนมาจากไหนบ้าง

ส่งสำนักพิมพ์ ขายรูปเล่ม
โดยปกติแล้ว นักเขียนจะได้รับค่าตอบแทนจากสนพ.แบ่งเป็น 2 แบบ

1. แบบคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ x ราคาปก x จำนวนที่ตีพิมพ์
แบบนี้จะเป็นที่นิยมที่สุดเนื่องจากพิมพ์ซ้ำอีกก็ได้เรื่อยๆ แต่ถ้าไม่พิมพ์ซ้ำก็ได้แค่รอบเดียวเป็นปกติ

2. แบบเหมาจ่ายครั้งเดียว แล้วแต่ตกลงว่าจะจ่ายเท่าไร

ลงนิตยสาร สิ่งพิมพ์ รับค่าตอบแทนเป็นรายตอน

ทำอีบุ๊คส์ ขายออนไลน์เองหรือผ่านสนพ.เป็นผู้จัดการให้แล้วรับผลตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์

ทำหนังสือทำมือหรือปรินท์ออนดีมานด์ เขียนเอง ทำขายเอง รับเงินเองเต็มๆ ค่ะ

ขายทำละคร เป็นแบบเหมาจ่าย สัญญากี่ปีก็ว่าไป

ขายเรื่องย่อให้หนังสือเฉพาะกิจ หนังสือพิมพ์ นิตยสารละคร เหมาจ่ายเช่นกัน

ได้เงินแล้วนักเขียนต้องจ่ายภาษีด้วยเหรอ?

อันนี้โดนเพื่อนหันมาถามด้วยความฉงน ตอนที่เราบอกว่าต้องยื่นภาษี คนส่วนหนึ่งจะคิดว่านักเขียนเป็นอาชีพอิสระ ไม่จำเป็นต้องเสียภาษี ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนมาก รายได้ของนักเขียนจะถูกหัก ณ ที่จ่าย โดยสนพ.แล้วยื่นส่งให้สรรพากรไปตั้งแต่ออกใบกำกับภาษี ก่อนโอนเงินให้เราเสียอีกค่ะ

ดังนั้นทุกปีนักเขียนต้องยื่นภาษีเงินได้ ภงด.90 ในหมวดค่าลิขสิทธิ์ เพื่อขอคืนเงินภาษีที่ถูกหักไป หากฐานภาษีไม่ถึง และยื่นเพิ่มหากฐานภาษีเกิน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะได้คืนกันค่ะ ฐานภาษีคือรายได้รวมทั้งหมดในปีนั้นๆ ตามตารางด้านล่าง

สองเรา “เท่ากัน”

ปกติสำนักพิมพ์จะหัก ณ ที่จ่ายไป 3% หรือ 5% (ส่วนใหญ่จะนิยมหัก 5%) ก็ลองรวมรายได้ดูว่าถึงปีละสามแสนบาทไหม ปกติไม่เกินสามแสนได้คืนทั้งหมดค่ะ แต่ถ้าเกินก็มาดูค่าลดหย่อนอะไรต่างๆ อีก ก็อาจจะได้คืนเหมือนกันแต่อาจไม่ทั้งหมดจากที่หักไป มากกว่านั้นร้อยละสิบห้า ถ้ามีลดหย่อนเยอะก็อาจไม่เสีย แต่ถ้าลดหย่อนน้อยก็อาจต้องเสียเพิ่ม

อาชีพนักเขียนก็ไม่ต่างกับอาชีพทั่วไป คนทำงานออฟฟิศก็มีโรคออฟฟิศซินโดรม คนทำงานเขียนก็ต้องเผชิญโรคภัยจากการทำงานเช่นกันนะคะ อย่างเช่น นิ้วล็อค การเกิดพังผืดกดทับเส้นประสาทที่มือ โรคเกี่ยวกับคอ ตา หลัง เอว และโรคอ้วน เนื่องจากงานของเรามีการขยับตัวน้อยมาก ทั้งวันอาจขยับแต่นิ้วจิ้มงาน กับปากเคี้ยวขนม ทำให้เป็นโรคอย่างหลังนี่ล่ะมาก

นักเขียนเป็นอาชีพอิสระ ไม่มีหลักประกันอะไรในชีวิต ดังนั้นหาเงินมาได้ก็ต้องแบ่งเก็บออมเอาไว้ใช้จ่ายในบั้นปลายยามเจ็บป่วย เพราะพวกเราไม่สามารถเบิกค่าหมอค่ายาได้เหมือนกับอาชีพที่ทำงานประจำ แต่เนื่องจากเราทำงานอยู่บ้าน ภาษีสังคมน้อย ไม่ต้องแต่งตัวแต่งหน้า ก็ช่วยให้เซฟในจุดนี้ไปได้เยอะค่ะ

แล้วทุนของนักเขียนมีอะไรบ้าง

เมื่อก่อนนักเขียนก็ต้องลงทุนสูงอยู่พอสมควร ทุนในการแสวงหาความรู้ ประสบการณ์ ต้องซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดมากมายเพื่อค้นข้อมูลสักเรื่องหนึ่ง ต้องเดินทางไปยังสถานที่จริงเพื่อศึกษาแล้วเอามาเขียน แต่ปัจจุบันทุนของนักเขียนลดลงมาก ด้วยสื่ออินเตอร์เน็ตที่เข้ามามีบทบาทอย่างสูง การเข้าถึงข้อมูลเป็นเรื่องง่าย อยากรู้อะไรก็ค้นเอา ดูเฉพาะเนื้อหาที่ต้องการ ไม่ต้องซื้อหนังสือหรือตำราทั้งเล่ม เว้นแต่จะหาไม่ได้จริงๆ อยากศึกษาอาชีพ สถานที่ไหน ก็ไม่ต้องลำบากเดินทางไป เปิดดูแผนที่ ดูเว็บไซต์ที่รวมกลุ่มคนที่มีความรู้เฉพาะด้าน เราก็จะได้ข้อมูลมาประกอบการเขียนแล้วล่ะค่ะ ถ้ามีโอกาสไปสถานที่จริงก็จะยิ่งเพิ่มเติมรายละเอียดที่ตกหล่นได้น่าเชื่อถือขึ้น

นักเขียนต้องเป็นนักอ่าน คำนี้ไม่ผิด เพราะถ้าไม่อ่านก็คงไม่มีอะไรมาเขียนต่อ ถามว่าอ่านอะไรบ้าง สากกระเบือยันเรือรบ ทั้งบนดิน ใต้ดิน สายขาว สายดำ ธรรมะ เรื่องเสื่อมๆ อ่านหมดค่ะ เพื่อนเคยถามว่าทำไมพูดเรื่องอะไรก็รู้ไปหมด คือจริงๆ ก็ไม่ถึงกับต้องแตกฉาน แต่เราต้องรู้สิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา รอบสังคม การอ่านจะเปิดโลกใบใหม่ให้เราเสมอ และทำให้เราสามารถหยิบจับมาใช้ในงานได้เมื่อถึงเวลาที่ต้องการ

อย่าแปลกใจถ้ามีคนมาพูดว่า ดีนะทำงานง่ายๆ สบายๆ มีเงินอยู่ในสมองอยู่แล้ว นั่งนึกๆ เขียนๆ ก็ได้ละ เพราะความจริงคนทั่วไปจะไม่รู้ว่า นักเขียนต้องทำการบ้านมากแค่ไหน ผจญกับความน่าเบื่อเพียงไร ฝ่าฟันกับความยุ่งเหยิง ความง่วงทรมาน ความเครียดกดดันที่จะดึงให้คนอ่านตามงานเราไปจนถึงฝั่ง และทำงานให้เสร็จตรงตามเวลาปิดต้นฉบับ กว่าจะจบสักเล่มหนึ่งบางทีผมหงอกเพิ่มขึ้นมาไม่รู้ตัว ไม่มีงานไหนสำเร็จโดยไม่พยายาม และไม่มีงานไหนไม่ใช้สมองในการทำ ฝันหวานปั้นน้ำเป็นตัวเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เป็นนักเขียนได้

นอกจากไอเดียในสมอง ก็มีอุปกรณ์ประกอบอาชีพอย่างคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ซึ่งต้องมีกันแน่ๆ ล่ะในยุคสมัยนี้ ช่วยให้งานลื่นไหลเดินได้ไปอย่างรวดเร็ว แต่บ่อยครั้งเจ้าอุปกรณ์พวกนี้ก็มักจะมาทรยศเอาตอนช่วงเดดไลน์ ให้ได้กรีดร้องกันเป็นประจำ ดังนั้นนักเขียนจึงเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ ย้ำเซฟ อยู่เป็นนิสัย ขอแนะนำให้เซฟข้อมูลขึ้นบนพื้นที่ไอคราว ดร็อปบ็อกซ์ หรือเว็บที่ให้บริการพื้นที่ไปเลย เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินจากมหาวิบัติวันสิ้นใจ

การที่ใครจะเริ่มต้นอาชีพด้วยงานเขียน คงไม่อาจมุ่งมั่นไปถึงจุดหมายด้วยแค่เห็นแก่ค่าตอบแทนเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องมีใจรักในงานที่เขียน มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะสร้างความบันเทิง มอบความรู้ ให้แก่ผู้อ่าน หากท่านซื่อสัตย์ต่ออาชีพของตนเอง ไม่ทรยศต่อวิชาชีพ ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ทั้งนั้น ชื่อเสียง เงินทอง เกียรติยศก็จะตามมาเอง

ในการเป็นนักเขียนก็มีจรรยาบรรณที่ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า ไม่ควรละเมิดลิขสิทธิ์ผู้อื่น การคิดสั้นด้วยการลอกพล็อตหรือเนื้อหาส่วนหนึ่งส่วนใดมาดัดแปลง อาจทำให้อนาคตหมดสิ้นบนเส้นทางสายนี้ไปเลยก็ได้ เราจะไม่พูดถึงสมัยก่อนที่จะมีกฎหมายลิขสิทธิ์นะคะ อย่าเทียบกับยุคเก่าว่าทำไมนักเขียนรุ่นนั้นทำได้ แล้วทำไมเราทำไม่ได้ บริบททางสังคมเปลี่ยน กฎหมายเปลี่ยน ยุคสมัยเปลี่ยน มุมมองความคิดเปิดกว้างขึ้น การสืบค้นก็ทำได้ง่าย ถูกจับได้ขึ้นมามันไม่คุ้มกันเลย ถ้าไม่ถูกแบน ก็จะถูกมองแบบไม่ให้ราคาจากนักเขียนด้วยกัน

วงการนักเขียนค่อนข้างแคบ ใครทำอะไรยังไงมักเล่าต่อถึงกันหมด หากได้ยินได้ฟังไอเดียของใครมา ก็ไม่ควรไปหยิบเอาของเขามาใช้  เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าของไอเดีย จงเป็นผู้รับฟังที่ดี และเป็นผู้สร้างสรรค์ที่สง่างาม เกิดด้วยไอเดียตัวเองจะดีกว่ายืมจมูกคนอื่นหายใจ ในขณะเดียวกัน การพูดหรือปรึกษาโดยไม่ระมัดระวังก็อาจโดนขโมยไอเดียได้เช่นเดียวกัน เพราะวงการนี้ก็เหมือนกับอาชีพสร้างสรรค์อื่นๆ ที่ทรัพย์สินทางปัญญามีค่าดั่งทอง ในเมื่อมันเป็นทรัพย์สินเราก็ควรต้องเก็บงำให้มิดชิด จะได้ไม่เสียใจทีหลัง…

ก็เป็นอาชีพที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบนัก แต่ตบตีกับตัวเองก็ยังดีกว่าต้องไปตบตีกับมนุษย์ในที่ทำงานข้างนอก ถ้าหากว่าพร้อมจะเผชิญกับต้นฉบับหลายร้อยหน้า อดทนอยู่กับมันจนหลอนทั้งยามหลับและยามตื่นเหมือนดูเทเลทับบี้นับเลขวนห้าสิบรอบ คุณก็พอจะเริ่มเป็นนักเขียนได้แล้วล่ะ

 

2 thoughts on “นึกจะเขียน : ว่าด้วยอาชีพนักเขียน

  1. อีกเรื่องที่อยากพูดถึงคือ คนติดภาพฉากนักเขียนนิยายพิมพ์โน้ตบุ๊คสวยๆริมทะเล ลมสะพัดเข้ามาระปอยผมพลิ้วสยาย ดวงตากลมโตสุกขับประกายฝันอยู่ในที ข้างกายเป็นของกินน่ารักส่งกลิ่นหอมเย้ายวนชวนเคี้ยว ……. ความเป็นจริงแล้วลมพัดทรายเต็มโน้ตบุ๊ค ตาหยีเพราะแสงแยงและทรายเข้าตา ผมยุ่งกระเซอะกระเซิง หันไปกรี๊ดกับกระดาษพล็อตปลิวว่อนไปนู้น ของกินหรอ? เพื่อนไม่แย่งก็โดนหมาทะเลงับไปกิน 55555555555555

    Liked by 1 person

Leave a comment