ระหว่างบรรทัด: เมื่อน้ำท่วมทุ่งแต่ผักบุ้งโหรงเหรง
นักเขียน / ระหว่างบรรทัด / วัสส์ วรา / สอนเขียน / เนื้อหาสาระ

ระหว่างบรรทัด: เมื่อน้ำท่วมทุ่งแต่ผักบุ้งโหรงเหรง

เคยไหมคะที่เวลาคุณอ่านนิยาย คุณรู้สึกว่ามันหนืดๆ เนือยๆ ขาดๆ เกินๆ หรือสุดแสนจะน้ำท่วมทุ่ง หาผักบุ้งไม่เจอสักต้น สิ่งนี้เกิดจากอะไรกันแน่ เราคงต้องกลับมาตั้งคำถามว่า อะไรบ้างที่ควรใส่ลงไปในนิยาย คนส่วนใหญ่เวลาเขียนนิยาย ก็มักแบ่งเป็นสองแบบ คือเขียนไปตามพล็อต กับเขียนไปตามอารมณ์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็มีโอกาสจะเขียนฉากที่ดู “ย้วย” ได้ทั้งคู่ คนที่เขียนไปตามอารมณ์ อาจมีแนวโน้มจะเขียนสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบหรืออยากเห็นมากเกินไป เรียกว่าเดินชมทุ่งจนลืมกลับมาที่เรื่อง มีข้อมูลที่รู้สึกตื่นตาตื่นใจก็เทลงมาเสียเกลี้ยงจนคนอ่านเกาหัวว่าต้องรู้ขนาดนั้นไหม ใส่แนวคิดที่ตัวเองเชื่อวนไปวนมา ปลื้มดอกไม้เลยบรรยายดอกไม้ลงไปทุกหัวมุมรวมห้าสิบพันธุ์ในเรื่อง (นี่ก็เวอร์ไป แต่คงพอเห็นภาพ) นึกอยากเขียนฉากในผับก็โยนลงมา นึกอยากเขียนอุทยานแห่งชาติก็โยนลงมา อ้าว พล็อตอยู่ไหน… เมื่อเขียนแบบนี้ เรื่องก็ย้วยยืด ออกทะเลแล้ววนกลับมาฝั่งแล้วออกอ่าวไปอีกรอบ ไม่ไปไหนสักที ส่วนคนที่เขียนไปตามพล็อตอาจเล่าเรื่องไปตามลำดับเหตุการณ์เรื่อยๆ และเขียนบางฉากที่ดูไม่มีอะไรเกิดขึ้นเท่าไรเพื่อ “ลาก” อีเวนต์ที่น่าจะเกิดขึ้นมาต่อกัน หรือเขียนสิ่งที่คิดว่าน่าจะเกิดขึ้นเป็นปกติในเหตุการณ์นั้นๆ ไปเรื่อยเปื่อยโดยไม่สื่ออะไร ยกตัวอย่างเช่น กำหนดว่านางเอกเป็นพนักงานออฟฟิศ ก็เขียนฉากที่เกิดขึ้นที่ทำงาน บรรยายนางเอกเดินไปถ่ายเอกสาร กดปุ่ม เอาเอกสารมาจัดชุดและเย็บแม็ก จากนั้นนางเอกเดินไปแพนทรี่ชงกาแฟ แล้วกลับมาที่โต๊ะทำงาน เจอพระเอก คำถามคือ ฉากนี้บอกอะไรคนอ่านคะ คนอ่านอยากเห็นนางเอกเย็บแม็กเอกสารหรือเปล่า (โอ้ น่าตื่นตาตื่นใจไม่เคยรู้เลยว่าจัดชุดเอกสารต้องเย็บแม็กด้วย) ฉากนี้ได้บอกอะไรเกี่ยวกับนางเอกบ้างนอกจากนางเอกเป็นพนักงานออฟฟิศ (ซึ่งก็บอกไปแต่แรกแล้ว) และนางเอกดื่มกาแฟ … Continue reading