ระหว่างบรรทัด: ตัวละครที่ “น่าติดตาม”
ตัวละคร / นักเขียน / ระหว่างบรรทัด / วัสส์ วรา / สอนเขียน / เนื้อหาสาระ

ระหว่างบรรทัด: ตัวละครที่ “น่าติดตาม”

ตัวละครนั้นสำคัญไฉน? เมื่อพูดถึงนวนิยายสักเรื่องหนึ่ง สิ่งที่คนมักพูดถึงเป็นอย่างแรกเกี่ยวกับนิยายเรื่องนั้นคือ “พล็อตเป็นยังไงบ้าง” นี่ไม่ใช่คำถามที่ผิด แต่ออกจะทำให้เกิดทัศนคติแปลกๆ บางอย่างขึ้นมาสำหรับคนบางกลุ่ม คือคิดว่าพล็อตเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของนิยาย เวลาลงมือเขียนนิยายก็จะคิดแต่พล็อตๆๆ พล็อตเป็นแบบนั้น พล็อตเป็นแบบนี้ ส่วนตัวละครก็เป็นเพียงสิ่งที่มีไว้เพื่อให้พล็อตนั้นเคลื่อนที่ไปได้ตามที่วางแผน แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ลองคิดถึงเรื่องดังๆ บางเรื่อง แล้วเราอาจพบว่าภาพจำชัดที่สุดเกี่ยวกับเรื่องนั้นคือตัวละคร เราอาจจำรายละเอียดการสืบคดีของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ได้ไม่หมด หรือจำไม่ได้เลย แต่เราจำได้ว่าเชอร์ล็อก โฮล์มส์ เป็นใคร เป็นคนแบบไหน ตัวละครนี้สามารถนำมาล้อเลียน ทำเป็นการ์ตูน เป็นหนัง เป็นหนังสือภาคต่อที่เขียนโดยคนอื่น แต่คนก็จะยังจำได้ว่านี่คือเชอร์ล็อก โฮล์มส์ แม้บางกรณีจะมีการเปลี่ยนเซตติ้ง หรือบางกรณีไม่ได้นำพล็อตเดิมมาใช้เลย เรามาลองพูดถึงแฟนฟิค (เรื่องที่นำตัวละครที่มีอยู่แล้วจากต้นฉบับมาเขียน) นี่ก็เป็นกรณีคล้ายกัน ทำไมคนเราจึงอยากเขียนแฟนฟิค นั่นเพราะคนคนนั้นชื่นชอบอะไรบางอย่างในตัวละครนั้นๆ จนอยากเขียนเกี่ยวกับตัวละครตัวนี้ละ (ไม่อย่างนั้นจะเอามาเขียนทำไม) แฟนฟิคมักไม่ได้หยิบพล็อตใดๆ มา สิ่งที่หยิบมาคือบุคลิก/นิสัย/แบ็กกราวน์ของตัวละคร ถ้าตัวละครไม่สำคัญ จะไปยุ่งยากหยิบมันมาทำไมคะ ถ้าตัวละครไม่สำคัญ ใครจะอยากนำมาจินตนาการต่อ แฟนฟิคเกิดขึ้นโดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่สิ่งที่สำคัญที่สุดสิ่งหนึ่งของต้นฉบับ นั่นคือ “ตัวละครที่ดี” จนคนอ่านอยากติดตามไปสุดหล้าฟ้าเขียว จนคนอ่านไม่อยากจบเรื่องกับตัวละครตัวนั้นๆ แค่ในนิยาย ตัวละครที่ดีไม่ได้เกิดขึ้นมาจากกระบอกไม้ไผ่และไม่ได้เผอิญเป็นที่รักของประชาชนแบบส้มหล่น แต่เป็นเพราะนักเขียนสร้างตัวละครมาให้เป็นแบบนั้น แบบเดียวกับที่นักเขียนสร้างพล็อตขึ้นมา การสร้างตัวละครที่ดีนั้นยากมาก … Continue reading