ชีวิตการงาน / นักเขียน / บันทึกเรื่อยเปื่อย / พัณณิดา ภูมิวัฒน์ / พิมพ์ดีด / ลวิตร์ / สอนเขียน / หนังสือ / เนื้อหาสาระ

บันทึกเรื่อยเปื่อย : Character-based กับ Plot-based (4)

พล็อตเบส

ที่จริงเราคิดว่านักเขียนพล็อตเบสไม่ค่อยมีปัญหาค่ะ

ว่าอย่างไรดี คือเราคิดว่านักเขียนพล็อตเบสนั้นเข้าหาต้นฉบับในฐานะ “งาน” ในขณะที่นักเขียนคาแรคเตอร์เบสอาจจะเข้าหาต้นฉบับแบบคิดว่า “ลูกรักของข้อย” หรือ “สถานที่ระบายอารมณ์และจิตวิญญาณของข้อย” (ซึ่งโดยตัวมันเองไม่ใช่มายด์เซ็ตที่มีปัญหา ตราบใดที่คุณดูแล “ใจ” ของตัวเอง อย่างที่เราบอกในตอนที่แล้ว)

เมื่อมองงานอย่างงาน ตราบใดที่คุณทำงานเป็น (เช่น จัดตาราง วางแผน เข้าใจการดีลกับคนอื่นและการประชาสัมพันธ์) คุณก็ไม่ควรมีปัญหาอะไรเลย

ถ้าหากจะมีปัญหาบ้าง คือนักเขียนพล็อตเบสที่ค่อนข้างมือใหม่

ตอนที่ยังมือใหม่ นักเขียนพล็อตเบสมักจะเน้นพล็อตเป็นใหญ่ และละเลยอารมณ์ไปเลย เพราะคิดว่าขอแค่ให้พล็อตงดงาม หรือมีแมสเสจบางอย่างที่ดี หรือทวิสต์ได้เป๊ะก็พอแล้ว นอกจากนั้น บางคนก็คิดว่าซีนอารมณ์นั้นสามารถทดแทนด้วย “แพทเทิร์นอารมณ์” ได้

“แพทเทิร์นอารมณ์” คือคุณอ่านเรื่องที่มีอารมณ์อย่างนี้ๆ จนเข้าใจระดับหนึ่งว่าแพทเทิร์นมันเป็นอย่างนี้เอง จากนั้นคุณก็ถอดแพทเทิร์นเดียวกันมาใส่ในเรื่องของคุณ

นี่ไม่ใช่การลอกนะคะ อย่าเข้าใจผิด

การถอดแพทเทิร์น ก็เช่นการใช้คำว่า “มือบาง-มือหนา” แทนพระเอกนางเอก การเขียนแบบตามขนบประเภทนางเอกต้องถูก “ดูดกลืนความหอมหวาน” (แปลว่าจูบ) หรือแพทเทิร์นอารมณ์อื่นๆ เช่นเจอแบบนี้ต้องโกรธจนหน้าตึง คล้ายๆ กับการเขียนว่าจะเกิด 1 2 3 โดยที่คุณเองไม่อินด้วย แต่คิดว่าต้องมาแบบนี้แหละ

ที่จริงวิธีนี้ไม่มีปัญหาค่ะ นักเขียนใช้กันทุกคน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้ทุกเรื่อง หรืออินอารมณ์ทุกอารมณ์ แต่ทุกคนก็ต้องเขียนเรื่องต่อไปให้ถึงฝั่ง ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

แต่คำเตือนคือ ถ้าคุณไม่มีข้อดีอื่นๆ เลย คุณจะมีแต่แพทเทิร์น เมื่อมีแต่แพทเทิร์น มันจะสู้คนที่เทอารมณ์เขียนด้วยความอินไม่ได้

อนึ่ง เราไม่ได้บอกว่าคุณจำเป็นต้องอินให้เท่าคาแรคเตอร์เบส แต่เราคิดว่าคุณต้องพัฒนาจุดเด่นของคุณขึ้นมา

หรือพูดง่ายๆ ว่าถ้าคุณเป็นพล็อตเบส แต่คนอ่านอ่านแล้วยังไม่ทึ่งในพล็อต แปลว่าคุณยังเก็บเลเวลไม่พอค่ะ

คุณอาจยังเล่าเรื่องไม่เก่ง ยังเข้าใจคนอ่านไม่ดีพอ หรือกระทั่งตัวพล็อตของคุณยังไม่ฟาดหน้าแงแรงจริงๆ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่คุณจะได้มาด้วยการทำซ้ำๆ และศึกษาไม่เลิก ก็เหมือนการทำงานอื่นๆ นั่นเอง เราคิดว่าคีย์เวิร์ดที่สำคัญที่สุดของพล็อตเบส คือ “สังเกต ศึกษา และพยายามเข้าใจธรรมชาติมนุษย์”

คุณอาจไม่อินอารมณ์มากเท่า แต่เพราะไม่ได้จมลงไปนี่เอง คุณถึงมีแนวโน้มจะเข้าใจมนุษย์โดยปราศจากอคติได้กระจ่างกว่ามาก คุณรู้ว่ามนุษย์ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร คิดเห็นอย่างไร และมีธรรมชาติอย่างไร ขอให้คุณเข้าใจและใช้จุดนี้ ให้ตรงกับความสามารถอื่นๆ ที่คุณมี (เช่นความสามารถในการวางพล็อต การสร้างทวิสต์ การออกแบบตัวละคร) คนอ่านจะติดคุณหนึบเลยค่ะ

ข้อแนะนำอีกอย่างคือ ปรกติคุณไม่ได้ไร้อารมณ์หรอกค่ะ คุณแค่ไม่อินอารมณ์บางอย่าง โดยเฉพาะอารมณ์ที่คนอ่าน “ฮิต” กัน เช่น อารมณ์รัก

แต่จะต้องมีอารมณ์ที่คุณอินแน่ๆ เช่น ความกลัว ความตื่นเต้นแอคชั่น ความรู้สึกรังเกียจ ทั้งหมดนี้ถ้าใช้ถูกที่ล้วนมีประโยชน์ทั้งนั้นค่ะ ขอให้หาที่ใช้ให้เจอ เรื่องจะมีพลังของอารมณ์มากขึ้นเอง

และทิปส์ข้อสุดท้ายที่ดีเสมอ ไม่ว่าจะพล็อตเบสหรือคาแรคเตอร์เบส คือเวลาที่บรรยายอะไรไม่ออกหรือไม่อิน ให้คุณลองจินตนาการว่ารู้สึกมันด้วย “ร่างกาย” และบรรยายออกมาเป็นความรู้สึกทางกาย

นี่เป็นสิ่งที่เป็นสากลที่สุดแล้ว ถ้าใช้ได้ดี ไม่ว่าใครก็จะเข้าใจและอินค่ะ

###

คราวหน้าจะเก็บประเด็นปิดท้ายนิดหน่อย แล้วเราจะขึ้นหัวข้อใหม่กันนะคะ 🙂

3 thoughts on “บันทึกเรื่อยเปื่อย : Character-based กับ Plot-based (4)

  1. ขอบคุณนะคะ ตรงมาก แต่ไม่ใช่พวกเราไม่มีปัญหานะ ปัญหาของพวกเราคือคนอ่านอาจจะ “เข้าใจ” งานของเรา แต่ไม่ “รู้สึก” ค่ะ พวกเขาเลยอ่านงานเราแค่เที่ยวเดียว จบแล้วจบกัน จากนั้นก็ไปอ่านงานอื่นซ้ำ ๆ ที่ทำให้เขารู้สึกได้มากกว่า ปัญหาบิ้กเบิ้มเลย ฮือ ๆ

    Like

    • เรื่องนี้คุยกับเพื่อนๆ แอดมินด้วยกัน พวกเราคิดว่าอย่างนี้ค่ะ

      – สิ่งที่คนอ่านจะอ่านซ้ำ คือสิ่งที่ “อ่านแล้วสบายใจ” หรือไม่ก็ “อ่านแล้วฟิน” หรือไม่ก็ “อ่านแล้วตอบสนองอารมณ์ที่ต้องการ”

      แต่ทั้งหมดที่บอกมานี่ ไม่ได้แปลว่านักเขียนคาแรคเตอร์เบสทุกคนจะทำได้ บางคนก็เป็นคนมีอารมณ์เศร้ามาก อ่านแล้วดิ่งหายใจไม่ออก คนอ่านก็ไม่อ่านซ้ำเหมือนกัน

      – เราคิดว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าอ่านซ้ำ คือให้บางอย่างที่เขาต้องการค่ะ คนเราอาจจะไม่อ่านดาวินชี่โค้ดซ้ำกันบ่อยๆ แต่จำติดใจ กลายเป็นเทรนด์เลยนี่เนอะ 🙂

      – พล็อตเบสที่วางเรื่องได้เก่งมากๆ คนอ่านจะอ่านซ้ำค่ะ อ่านจบแล้วแทบจะอ่านซ้ำใหม่เลยบัดเดี๋ยวนั้น เพราะวางแผนไว้ดีมาก โยนปมลงมาเรื่อยๆ โดยคนอ่านไม่ทันรู้ตัว พอถึงจุดทวิสต์ คนอ่านจะออกแนวเฮ้ย แล้วต้องกลับไปดูใหม่ว่าเออ เขาวางมาแล้วนี่นะ อย่างนี้ๆ เอง

      – นอกจากนั้น นักเขียนพล็อตเบสบางคนอาจจะมัวแต่สนใจพล็อต แล้วลืมการดีไซน์ตัวละครไป เพราะคิดว่าพล็อตงามก็พอแล้ว แต่ที่จริงสิ่งที่คนอ่านส่วนใหญ่อินคือตัวละครค่ะ ควรสร้างตัวละครที่คนอ่านเห็นภาพชัดว่าเป็นใคร คนอ่านจะได้มีที่เกาะ

      ปรกตินักเขียนพล็อตเบสถ้าลงมือดีไซน์ตัวละคร จะดีไซน์ได้สุดกว่านักเขียนคาแรคเตอร์เบสด้วย เพราะไม่ได้เขียนจากตัวเอง ไม่ได้ขึ้นกับตัวเอง เป็นการดีไซน์มาจากภายนอก (ซึ่งแปลว่าในขณะที่คาแรคเตอร์เบสเขียนตัวละครบางแบบแล้วจะเจ็บเกิน ดิ่งเกิน รังเกียจมันเกิน พล็อตเบสจะไม่มีปัญหานี้เลย เพราะไม่ได้สิงมันอยู่) อย่างเช่น L ในเรื่องเดธโน้ตนี่ คนก็จำฝังใจกันนะคะ เป็นเสน่ห์ของเรื่องเลย

      Like

      • ขอบคุณนะคะ กรุณาช่วยตอบอย่างละเอียด เกรงใจจริง ๆ อ่านแล้วได้แง่คิดเยอะเลยค่ะ เหมือนก่อนหน้านี้ก็วิตกไปเองแท้ ๆ >_< เริ่มมองเห็นทางแก้ไขชัดเจนกว่าเดิม รู้สึกสบายใจขึ้นมาก ต้องขอบคุณจริง ๆ ค่ะ ^^

        Liked by 1 person

Leave a comment