ชีวิตการงาน / นักเขียน / นิยาย / บันทึกเรื่อยเปื่อย / พัณณิดา ภูมิวัฒน์ / พิมพ์ดีด / ลวิตร์ / สอนเขียน / หนังสือ

บันทึกเรื่อยเปื่อย : Character-based กับ Plot-based (2)

deathnote

คราวนี้มาคุยเรื่องนักเขียนพล็อตเบสกันค่ะ

พูดกันตรงๆ ทื่อๆ นะ เราเป็นนักเขียนที่มีแนวโน้มไปทางคาแรคเตอร์เบสมากกว่า ดังนั้นอาจจะพูดถึงนักเขียนพล็อตเบสได้ไม่เข้าถึงจิตวิญญาณเป๊ะๆ คือบอกได้ว่า เออนี่แน่ะ คนนั้นคนนี้เป็นนักเขียนพล็อตเบส แต่ถ้าให้บอกวิธีการทำงาน บางทีก็อาจจะบอกได้ไม่เป๊ะนัก

ดังนั้นถ้าใครเป็นนักเขียนพล็อตเบสแล้วอยากแบ่งปัน ก็ยินดีมากๆ เลยนะคะ มาคุยกันนะ 🙂

นักเขียนพล็อตเบสเป็นอย่างไร

นักเขียนพล็อตเบสคือนักเขียนที่ใช้ “ความคิด” และ “การวางแผน” เป็นเครื่องมือสำคัญค่ะ

(พูดอย่างนี้อาจจะเหมือนนักเขียนคาแรคเตอร์เบสไม่ใช้ความคิด จริงๆ ใช้นะคะ แต่เอาไว้เขียนถึงทีหลังเนอะ จะได้ไม่งง)

ที่เราบอกว่าใช้ “ความคิด” หมายความว่าเมื่อจะเขียนเรื่อง นักเขียนพล็อตเบสมักจะต้องวางโครง มีคอนเซปต์ที่แข็งแรง และเห็นภาพรวมอย่างชัดเจนก่อนว่าจะพรีเซนต์อะไร จากนั้นจึงเขียนไปตามโจทย์ที่กำหนดให้ตัวเองค่ะ

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้คุณ GRRM เรียกนักเขียนพล็อตเบสว่า “พวกวิศวกร” เพราะการเขียนแบบพล็อตเบส ก็เหมือนวิศวกรวางผังโครงสร้างอาคาร พอ “คิด” แล้วว่าจะสร้างตึกแบบนี้ๆ นะ จะสร้างเครื่องยนต์แบบนี้ๆ นะ ก็วาดผังขึ้นมา วาดเสร็จก็ทำไปตามผัง ถ้ามีปัญหาระหว่างทางก็อาจจะปรับผังบ้าง และในที่สุดก็จะสำเร็จเสร็จสิ้นออกมาเป็นชิ้นงาน ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่หลุดไปจากผังมากนัก

เพราะเขียนโดยวางแผนอย่างชัดเจน งานเขียนของนักเขียนพล็อตเบสจึงมักจะ

  • มีคอนเซปต์ที่ชัดเจน
  • เล่าเรื่องย่อได้ง่ายมาก

ลองเปรียบเทียบกันดูก็ได้

นี่คือเรื่องแบบพล็อตเบส > “เด็กหนุ่มคนหนึ่งได้รับหนังสือที่กำหนดความตายของคนได้” (เดธโน้ต)

นี่คือเรื่องแบบคาแรคเตอร์เบส > “ชีวิตในวิทยาลัยศิลปะของกลุ่มเด็กหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่ง ความรักของพวกเขา การเติบโตขึ้นของแต่ละคน” (Honey&Clover มีใครอ่านไหมคะ เรื่องโปรดของเราเอง 🙂 )

จะเห็นเลยว่าพล็อตเบสสุดๆ กับคาแรคเตอร์เบสสุดๆ ต่างกันขนาดไหน พล็อตเบสมีคอนเซปต์ที่ชัดเจน ทำให้เกิดความรู้สึกว่า “อ๊ะ น่าสนใจ” ได้ในทันที ส่วนคาแรคเตอร์เบสจะต้องรู้ฝีมือคนเขียนระดับหนึ่ง รู้สไตล์การดีลกับตัวละครของเขา ถึงจะเข้าใจว่างานมันจะออกมาเป็นอย่างไร

อ้อ เป็นนักเขียนพล็อตเบส ไม่ได้หมายความว่าไม่ใส่ใจตัวละครนะคะ

แต่นักเขียนพล็อตเบสจะดีลกับตัวละครแบบเดียวกับการวางโครงเรื่อง คือมองตัวละครว่าเป็นสิ่งที่ต้องวางแผน คล้ายๆ การปั้นงานประติมากรรมหรืองานออกแบบ กำหนดออกมาว่าตัวละครที่ต้องการสำหรับเรื่องนี้ ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ จากนั้นอาจจะเติมตรงนั้นตรงนี้หน่อยในระหว่างเขียนเรื่อง เพื่อให้สมจริงขึ้น

ตัวละครของงานพล็อตเบสที่เป็นที่รู้จักมาก ก็อย่างเช่น เชอร์ล็อค โฮล์มส์ หรือ L (เดธโน้ต)

จะเห็นได้ว่า ตัวละครของนักเขียนพล็อตเบส ไม่ใช่ว่าไม่เด่น เพราะดูแค่ตัวอย่างข้างบน ก็เห็นว่าพวกเขาสามารถฉูดฉาดประหลาดล้ำ สุดเท่ เป็นที่รัก และเป็นที่จดจำนานแสนนานได้

แต่จุดที่นักเขียนพล็อตเบสต่างจากนักเขียนคาแรคเตอร์เบสก็คือ พออ่านตัวละครของนักเขียนพล็อตเบส เราจะรู้สึกเหมือนเรา “ลอย” อยู่เหนือเรื่อง เรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็น “เรื่องของคนอื่น” (เสียเป็นส่วนใหญ่) เราเป็นผู้สังเกตการณ์ ดังนั้นแม้บางทีจะระทึกตามตัวละคร และเสียใจที่ตัวละครตาย แต่เรามักจะรู้สึกว่าตัวละครคนนี้ไม่ใช่ “ตัวเรา” ทั้งยังไม่ถึงกับสนิทชิดเชื้อด้วย แบบที่เรารู้สึกกับตัวละคร (ส่วนใหญ่) ของนักเขียนคาแรคเตอร์เบส

ที่เป็นอย่างนี้ ก็เพราะคนเขียนเอง เวลาเขียนก็ “ลอย” อยู่เหนือเรื่อง (เราจึงเรียกว่าพวก “ลอย”) ทำงานในลักษณะเดียวกับวิศวกรที่วางผังและคอนเซปต์ก่อน ไม่ได้มองว่าตัวละครเป็นสิ่งที่จะต้อง “อยู่ด้วยกัน” และต้องค่อยๆ ทำความเข้าใจ

เพราะทำงานตามการวางแผน นักเขียนพล็อตเบสส่วนใหญ่จึงมักทำงานได้สม่ำเสมอและเร็วกว่านักเขียนคาแรคเตอร์เบส ไม่ค่อยมีโมเมนต์แบบว่าตัวละครไม่ไป ถ้างานช้าติดขัด ส่วนใหญ่จะเป็นเพราะวางพล็อตไม่ได้มากกว่า ถ้าวางพล็อต ก่อโครงสร้างได้ดีเมื่อไหร่ ก็จะเขียนเรื่องต่อได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ตัวอย่างงานเขียนพล็อตเบสที่มีชื่อเสียง ก็อย่างเช่น ผลงานทั้งหมดของผู้เขียนเดธโน้ต, ผลงานของแดน บราวน์, เรื่องสืบสวนจำนวนมาก เช่น งานของเซอร์โคนัน ดอยล์ งานของอกาธา คริสตี้ ถ้าใครเป็นแฟนเรื่องจีนแนวมากกว่ารัก อวี๋ฉิงก็เป็นนักเขียนพล็อตเบส ในขณะที่เตี่ยนซินเป็นนักเขียนคาแรคเตอร์เบสค่ะ

###

ต้องบอกก่อนว่า ในตัวนักเขียนแต่ละคน ไม่มีใครเพียวพล็อตเบส หรือเพียวคาแรคเตอร์เบสหรอกค่ะ มีแต่ว่าใครมีสัดส่วนอะไรมากกว่ากัน และมีแนวโน้มทางไหนมากกว่า ตลอดจนเขียนมานานจนค่อยๆ “กำจัดจุดอ่อน” ของตัวเองไปได้มากแค่ไหน

ดังนั้นคราวหน้า จะมาพูดเรื่องรูปแบบงานเขียนทั้งสองแบบเวลาปฏิบัติจริง จุดที่ควรระวัง และจุดที่ควรพัฒนานะคะ

 

 

3 thoughts on “บันทึกเรื่อยเปื่อย : Character-based กับ Plot-based (2)

  1. จริงๆเข้าใจว่าตัวเองเป็นคาแรกเตอร์เบสนะ แต่บางเรื่องที่คิดไว้ก็รู้สึกว่าเอ๊ะ…ไปทางพล็อตเบสซะมากกว่าก็มีเหมือนกัน อันนี้ก็แล้วแต่อารมณ์เนอะว่าอยากเขียนแนวไหน มันก็ยากกันไปคนละแบบ อันนี้ไม่ต้องชักนำอารมณ์ตัวละครให้มากแต่ต้องรู้จักเล่นพล็อตให้เด่นจริงๆ ซึ่งมันยากสำหรับเรานะ ชอบอ่านเรื่องสืบสวนแท้ๆแต่เขียนเองไม่เป็นเลย ในขณะที่คนเน้นพล็อตเบสอาจจะรู้สึกว่าตะขิดตะขวงตรงพรรณนา เข้าใจว่าเขาน่าจะถนัดบรรยายอย่างซื่อตรงมากกว่าพรรณนา (บรรยายแบบจูงนำอารมณ์ให้คล้อยตาม) เมื่อก่อนเราพรรณนาไม่เป็น จะรู้สึกว่าทำไมต้องเวิ่นเว้อตรงนี้ให้เสียเวลาด้วย มันดูเยอะไปไหม ความเด่นของการเล่นอารมณ์มันดูแย่งความสนใจไปจากการเดินเรื่องไปสู่จุดจบไปเลย

    บางครั้งเขียนเรื่องแบบคาร์เบสแท้ๆ แต่ต้องมีเล่นกลไกพล็อต มีทริกลับ และซ่อนแฝงวาระเร้นลับจากตัวละครหรือเรื่องแบบเราไม่ต้องเล่า ให้คนอ่านตะหงิดเอะใจเอง จะรู้สึกว่าเรื่องของมีรสชาติกว่าปกติหน่อยหนึ่ง ถ้าทำได้นะ…เราคิดว่าใช้รวมกันได้จะสุดยอดมากเลย

    Like

    • ลองหาส่วนผสมที่ตัวเองใช้ง่ายและชอบที่สุดดูนะคะ 🙂

      Like

  2. เราเป็นวิศวกรที่แอบทำสวนไว้หลังบ้านค่ะ
    เมื่อวิเคราะห์ดูแล้วเราน่าจะโน้มเอียงมาทางพล็อตเบสมากกว่า เพราะเราถือว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเนื้อเรื่องก็ต้องเดินไปตามที่วางแผนไว้ แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็มีปรับนิดปรับหน่อยบ้าง โดยพยายามไม่รื้อทั้งโครง(หากจำเป็นก็ต้องทำ) แต่ใช่ว่าเราจะไม่ปล่อยตัวละครนะค่ะ เราปล่อยหากเห็นว่าอยู่ในแนวทางที่วางไว้ นั่นทำให้เราไม่ได้ลอยอยู่เหนือเรื่องแต่ร่วมเดินไปข้างๆ ในบางครั้ง

    ปล. เรื่อง H&C เราดูอนิเมแล้วชอบมาก ถึงกับยกขึ้นหิ้งไว้เลยค่ะ

    Liked by 1 person

Leave a comment