ชีวิตการงาน / นักเขียน / นิยาย / บันทึกเรื่อยเปื่อย / พัณณิดา ภูมิวัฒน์ / พิมพ์ดีด / ภาพยนตร์ / ลวิตร์ / สอนเขียน / หนังสือ

บันทึกเรื่อยเปื่อย : Character-based กับ Plot-based (1)

han-solo-return-of-the-jedi_612x380

 

โดยทั่วๆ ไปแล้ว เรามองว่าคนเขียนหนังสือมีสองแบบค่ะ ฝรั่งเขาเรียก Character-based พวกเน้นคาแรคเตอร์ (ตัวละคร) กับ Plot-based พวกเน้นพล็อต (เรื่องราว)

คุณ GRRM คนเขียนเรื่อง Game of Thrones แกเรียกว่า พวกคนสวน กับ พวกวิศวกร

ส่วนเราเองบางทีก็เรียกว่า พวกจม กับ พวกลอย

ทำไมเรียกแบบนี้น่ะเหรอ

คือตามความเห็นของเรา คนเราจะมีนิสัยการทำงานต่างๆ กันไปค่ะ นิสัยการทำงานนี้ นอกจากเกิดขึ้นเพราะฝึกมาแบบนั้นแล้ว ยังเกิดเพราะนิสัยของเจ้าตัว สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู ฯลฯ ด้วย บางทีก็เป็นเรื่องที่อธิบายยาก เหมือนว่าทำไมคนเลือดกรุ๊ปเอถึงเป็นอย่างนั้น คนเลือดกรุ๊ปบีถึงเป็นแบบนี้ แต่บางทีพอทายออกมาแล้ว มันก็ดันแอบตรงน่ะค่ะ

ดังนั้นแม้ว่าจะทำอาชีพเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำแบบเดียวกัน นักเขียนก็เหมือนกัน ถึงจะบอกว่า “เป็นนักเขียนละ” ก็ไม่ได้ทำงานแบบเดียวกันหมด หรือมีคาแรคเตอร์คล้ายๆ กันหมดหรอกค่ะ ไม่อย่างนั้นเรื่องราวและสไตล์ของหนังสือจะมีหลายแบบต่างๆ กันไปได้อย่างไร

ต่อมาพอมีคนเขียนหนังสือออกมาเยอะๆ แล้วมีคนอ่านเยอะๆ ก็เลยมีการวิเคราะห์กันว่า เออนี่นะ นักเขียนนี่แบ่งกว้างๆ ได้สองแบบ คือเน้นคาแรคเตอร์ กับเน้นพล็อต

พวกเน้นคาแรคเตอร์คืออินกับคาแรคเตอร์ค่ะ เวลาเขียนเรื่อง ตัวละครมักจะมาก่อนเรื่องราว คือก็มีโครงเรื่องแหละ แต่ตัวละครมันเด่นกว่า เด่นมากๆ เวลาเราอ่านเรื่องของคนเขียนพวกนี้ เราจะรักตัวละครมากหรือไม่ก็รู้สึกว่า โห ตัวละครนี่เหมือนคนจริงๆ เลยเนอะ เหมือนเป็นเพื่อนพูดคุยกันได้เลย

พวกเน้นคาแรคเตอร์ มักจะปล่อยให้ตัวละครดำเนินเรื่อง ดังนั้นบางทีเรื่องราวจะดูเหมือนไปเรื่อยๆ หรือไม่ค่อยมีทวิสต์ และบางทีจะเล่าเรื่องที่นักเขียนแบบนี้เขียนยากด้วย เพราะ “เนื้อเรื่อง” จริงๆ ไม่เด่นเลย ไปเด่นที่ตัวละคร ถึงอย่างนั้น คนอ่านก็ยังตามอ่านไปได้เรื่อยๆ สนใจชีวิตตัวละครพวกนี้ อยากรู้ว่ามันจะเป็นยังไงกันต่อนะ

พวกเน้นคาแรคเตอร์ เวลาเขียนจะอินมาก อินจนเหมือนจมลงไปในเรื่องเลยค่ะ (เราเลยเรียกว่า “พวกจม”) เหมือนไปอยู่กับตัวละครด้วย ดังนั้นอย่าแปลกใจถ้ามีคนเขียนมาบ่นๆ ให้ฟังว่า เออนี่แน่ะ อีตัวละครที่ชั้นเขียนอยู่นี่มันไม่เดินเลยว่ะ หรือตัวละครไม่ยอมเลยเขียนต่อไม่ได้ หรือตัวละครมันพาไปเอง

เพราะมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ค่ะ

ถามว่าทำไม อืม…เล่าเรื่องหนังสตาร์วอส์ให้ฟังดีกว่า (ลากไปไกลเนอะ)

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ตอนที่แฮริสัน ฟอร์ดยังเอ๊าะๆ ก็ได้รับบทเป็นคุณฮาน โซโล ในภาคสองของสตาร์วอส์ชุดแรก (หรือก็คือภาค 5 ถ้านับแบบปัจจุบัน)

ในเอพพิโสดนั้น ฮาน โซโลถูกจับได้ แล้วก็ต้องถูกเอาไปแช่คาร์บอน จะตายหรือเปล่าก็ไม่รู้ ก่อนจะเอาไปแช่ฮานได้คุยกับเจ้าหญิงเลอา ที่รักกันแล้วแหละ แต่ไม่ยอมพูดกัน เจ้าหญิงเลอาก็เป็นน้ำหูน้ำตาบอกว่า ฉันรักคุณนะ (I love you.) ตามบทที่เขียนมา ตาฮานแกต้องตอบว่า ผมก็รักคุณเหมือนกัน (I love you, too.) แต่คุณแฮริสันดูบทนี้แล้ว ก็บอก ผกก. ว่าไม่ใช่ว่ะครับ ผมว่าฮานไม่พูดอย่างนี้

ทำไมฮานไม่พูดอย่างนี้ ก็เพราะฮานเป็นสัตว์โลกกวนประสาท ซึน นิสัยขี้โกงโฉดเล็กๆ พอน่ารัก การพูดอะไรแบบไร้ความซึนอย่าง “ป๋มก็รักหญิงนะงือ ;w;” หรือ “ผมก็รักคุณครับ (เสียงหล่อ)” จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

นักเขียนคาแรคเตอร์เบสจะเซนซิทีฟกับอะไรแบบนี้มากค่ะ (เพราะเห็นตัวละครเหมือนคนมีตัวตนจริง) ดังนั้นแม้จะวางบทมาแล้วว่าตัวละครเราต้องไปทางนี้แหละ (เช่นต้องสารภาพรักกัน) แต่ถ้าพอถึงซีนนั้นจริงๆ ปรากฏว่าที่คิดไว้มันไม่เป็นธรรมชาติ นักเขียนคาแรคเตอร์เบสก็จะรู้สึกทันทีว่า “ใช้ไม่ได้!” ต้องเปลี่ยนต้องแก้จนกว่าจะใช้ได้ ซึ่งหลายๆ ครั้งก็นำไปสู่อาการ “ตัน” จนกว่าจะนึกออกว่าควรทำอย่างไร

ถ้าเป็นนักเขียนพล็อตเบส (ที่เน้นเนื้อเรื่อง) บางทีก็จะลากตัวละครให้ผ่านไปเลย เช่น ฮานก็จะพูดว่า “ผมก็รักคุณ” ไปแบบนี้แหละ แล้วนักเขียนพล็อตเบสก็จะพาคนอ่านเข้าสู่เนื้อเรื่องต่อไป เพราะนักเขียนพล็อตเบสส่วนใหญ่จะไม่เซนซิทีฟกับตัวละคร แต่จะเซนซิทีฟกับภาพรวมของเนื้อเรื่องมากกว่าค่ะ

ทีนี้กลับมาที่คุณแฮริสันกันดีกว่า

ผกก.ก็บอกคุณแฮริสันว่า เออ ผมก็ว่าบทมันไม่เข้าปากฮานว่ะ เรามาแก้กันเถอะ

แต่ปรากฏว่าแก้กันไปตั้งหลายหน ก็ยังไม่ได้บทตามที่ต้องการ

ผกก.จึงบอกคุณแฮริสันว่า เออ เอางี้แล้วกัน ให้คุณสมมุติว่ากำลังเล่นเป็นฮานอยู่นะ แล้วพูดตาม
สัญชาตญาณออกมาเลยว่าฮานจะพูดยังไง

พอซ้อมบทกัน เจ้าหญิงเลอาบอกชั้นรักคุณ คุณแฮริสันก็พูดออกมาว่า ผมรู้ (I know.)

ทุกคนก็แบบ…โอ นี่แหละโคตรฮาน ซึนได้โล่

บางทีนักเขียนคาแรคเตอร์เบสก็เป็นแบบนี้ค่ะ คือสิงอยู่ในตัวละคร เวลาเขียนก็เหมือนเล่นเป็นตัวละครตัวนั้น ต้องพยายามอินให้ได้ว่าเขาจะคิดเห็นพูดจาอย่างไร ถ้าอินไม่เข้าก็ตัน แต่ถ้าอินเข้า ก็จะมีความสุขมาก เขียนได้ลื่นไหลมาก

และที่คุณ GRRM เรียกนักเขียนแบบนี้ว่า “พวกคนสวน” ก็เพราะเขียนเรื่องไปตาม “เมล็ดพันธุ์” ที่ได้มา คือสร้างคาแรคเตอร์มาก่อนเรื่อง เช่น สร้างตัวละครซึน (และอาจจะกำหนดโครงเรื่องคร่าวๆ เป็นฉาก) จากนั้นก็ปล่อยให้มันเดินไป ดูว่าความซึนของมันจะนำไปสู่อะไร

ก็เหมือนคนสวนที่ได้เม็ดมะม่วงมา รู้แหละว่าอีต้นไม้ต้นนี้ต้องโตเป็นต้นมะม่วง แต่ก็ไม่รู้หรอกค่ะว่ามะม่วงต้นนี้จะหน้าตาสูงต่ำ กิ่งก้านมาก ลูกดก ฯลฯ อย่างไรบ้าง เหมือนส่วนใหญ่นักเขียนคาแรคเตอร์เบสก็จะไม่รู้เลยว่าเรื่องของตัวจะมีภาพรวมยังไง จนกระทั่งเขียนจบแล้วนั่นเอง

คราวหน้าจะเล่าเรื่องนักเขียนพล็อตเบสให้ฟังบ้างนะคะ 🙂

_____

ป.ล. ไม่ต้องสปอยล์ภาคล่าสุดเก๊านะ เก๊ารู้แล้ว…

8 thoughts on “บันทึกเรื่อยเปื่อย : Character-based กับ Plot-based (1)

  1. ขอบคุณสำหรับบทความนะคะ ภาษาอ่านได้เรื่อยๆ เหมือนเวลานั่งคุยกับเพื่อนเลย ชอบวิธีการเล่าของคุณเจ้าของบล็อคจัง

    ถ้าเป็นแบบนี้เราคงเป็นประเภทเน้นคาร์แรคเตอร์ (ฮา) ถ้ามันไม่ใช่ มันก็ไม่ใช่จริงๆ นะ!

    Like

    • จริงค่ะ ไม่ใช่นี่ตัวละครลงไปนอนให้เราลากเลย…

      Like

  2. เราคงเป็นพวก Character ล่ะค่ะ ถ้าฟีลลิงตัวละครไม่ให้ ตันไปเป็นเดือนๆ เลย
    // จะจับยัดๆ ลงไปก็ทำไม่ลง ฮ่าๆ

    Like

  3. ชอบการเปรียบเทียบจังเลยค่ะ เปรียบเทียบและอธิบายเห็นภาพได้สุดยอด *ปรบมือ* แบบนี้เราก็คงเป็นคนเขียนแบบเน้นคาแรกเตอร์สินะเนี่ย เพิ่งรู้ตัว อาจจะเพราะส่วนหนึ่งเราผ่านหูผ่านตากระแสวิจารณ์ตัวละครไม่สมจริงมาเยอะ มันเลยกลายเป็นปรับดันเราเข้าเคสนี้ไปโดยปริยาย

    Like

    • เรามองว่าคนเราจะเป็นแบบไหน ขึ้นกับลักษณะในตัวค่ะ (ซึ่งบางทีก็เป็นเรื่องจิตวิทยา) ว่าตามตรงถ้าคนเขียนคาแรคเตอร์เบสเข้าใจมนุษย์ไม่พอ ตัวละครก็อาจจะไม่สมจริงได้ เพราะเขาเขียนโดยใช้ความรู้สึกของเขา ในขณะที่นักเขียนพล็อตเบสมักทำงานเหมือนผู้สังเกตการณ์ ถ้าเป็นคนที่มีสายตาคมคายอาจจะเขียนตัวละครได้สมจริงกว่านักเขียนคาแรคเตอร์เบส เพราะเป็นการมองอย่าง objective กว่า ดังนั้นการมองว่าตัวเองเป็นแบบไหน จึงควรมองที่วิธีทำงานมากกว่าที่ผลที่ออกมาน่ะค่ะ

      Liked by 1 person

  4. ชอบการวิเคราะห์แนวทางการประพันธ์แบบนี้ค่ะ. เราเอนไปทางcharacter-based. คิดเรื่องจากนิสัยตัวละคร. แต่พอคิดได้ ก็ต้องเอามาจัดโครงสร้างให้ดีๆด้วย. //ไม่เกี่ยวกับบทความ เท่าไหร่. แต่เราชอบ ที่ GRRM ใช้คำว่า คนสวนกับวิศวกร. เผอิญเราเรียน สาขาออกแบบภูมิทัศน์พอดี เลยรู้สึกว่า มันก็ต้องมีทั้ง ส่วนระบบโครงสร้างแข็ง มาเพื่อรองรับ ส่วน cosmetic

    Liked by 1 person

Leave a comment