ชีวิตการงาน / นักเขียน / บันทึกเรื่อยเปื่อย / พัณณิดา ภูมิวัฒน์ / พิมพ์ดีด / ลวิตร์ / สอนเขียน / เนื้อหาสาระ

บันทึกเรื่อยเปื่อย : Character-based กับ Plot-based (จบ)

CZOHucuWkAElnXv

ที่มา: https://pbs.twimg.com/media/CZOHucuWkAElnXv.jpg

เขียนเรื่องคาแรคเตอร์เบสกับพล็อตเบสยืดยาวมาจนถึงตอนที่ 5 แล้ว ก็จะเป็นตอนสุดท้ายค่ะ

สรุปอีกนิด

คาแรคเตอร์เบส (คนสวน, จม)
– เริ่มต้นเรื่องด้วยตัวละคร เวลาเขียนเหมือนสิงอยู่ในตัวละคร
– มักมีพล็อตอยู่บ้าง แต่ไม่ชัดเป๊ะๆ เพราะจะปล่อยให้ตัวละครเดินเรื่องเสียมากกว่า
– อ่านแล้วอินง่ายกว่า แต่เล่าเรื่องชัดๆ ยาก เพราะปล่อยตัวละครนำ
– โดยทั่วๆ ไป คนเขียนที่มาสายนี้จะอ่อนไหวกว่า และ/หรือ มีอารมณ์รุนแรงกว่า

พล็อตเบส (วิศวกร, ลอย)
– เริ่มต้นเรื่องด้วยพล็อต เวลาเขียนจะใส่ใจกับพล็อตโดยรวม
– มักมีพล็อตและคอนเซปต์อย่างชัดเจน ทำให้เล่าเรื่องง่าย บอกความคิดรวบยอดง่าย
– อ่านแล้วอาจไม่อินกับตัวละครเท่า เหมือนคนอ่านลอยอยู่เหนือเรื่อง เห็นภาพเป็นมุมกว้าง
– โดยทั่วๆ ไปจะทรีตงานเขียนเป็น “งาน” ไม่ใส่อารมณ์มาก

ที่สำคัญก็คือ (บอกหลายรอบแล้ว) ไม่มีใครเป็นคาแรคเตอร์เบสหรือพล็อตเบสแบบเพียวๆ หรอกค่ะ ทุกคนมีส่วนผสมทั้งสองอย่างในตัว

และไม่มีอะไรดีกว่าอะไรค่ะ ดีทั้งสองอย่าง นอกจากนั้น ทั้งสองอย่างควรเรียนรู้กันและกันด้วย

ถ้าคุณเป็นคาแรคเตอร์เบสโดยไม่มีพล็อตเลย เท่ากับคุณไปเที่ยวโดยไม่มีแผนที่ ดังนั้นคุณจะ 1. ตันเขียนไม่ออก หรือไม่ก็ 2. ออกทะเลหาฝั่งไม่เจอ

ถ้าคุณเป็นพล็อตเบสโดยไม่ใส่ใจตัวละครและอารมณ์เลย เรื่องของคุณจะแห้งผาก ตัวละครเป็นคนกระดาษไม่มีชีวิตจิตใจ ตัวละครที่ไม่มีชีวิตจิตใจจะไม่ดึงดูดความสนใจคนอ่าน คนอ่านก็จะเลิกอ่านค่ะ

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณมีพื้นฐานเป็นแบบหนึ่ง สมมุติว่าคุณเป็นคาแรคเตอร์เบส คุณก็ไม่ควรไปพยายามจนกลายเป็นพล็อตเบส เพราะมันเท่ากับคุณละเลยส่วนที่ดีที่สุดของคุณเอง ทางที่ดีคุณควรฟูมฟักข้อดีของตัวเอง ในขณะเดียวกันก็ดึงข้อดีของอีกแบบมาปรับใช้ทีละน้อย จนค่อยๆ ลงตัวดีกว่าค่ะ

ยกตัวอย่างง่ายๆ ทางนี้ไปเพิ่งดูซูโทเปียมา ตัวนางเอกจูดี้นั้นเป็นกระต่ายตัวเล็ก แน่นอนว่าใช้กำลังไม่ได้ แต่สามารถพลิกแพลงเอาชนะสัตว์อื่นที่ตัวโตกว่าได้ด้วยสิ่งที่มี เช่นแทนที่จะเอาถึกเข้าแลกไปปีนกำแพงน้ำแข็ง ก็อาศัยตัวอื่นเป็นแท่นกระโดดขึ้นไป แทนที่จะเอาถึกเข้าแลกไปต่อยกับเขา ก็ใช้ความไวทำจนเขาต่อยตัวเอง

แต่การที่คุณจะใช้คนอื่นเป็นแท่นกระโดด หรือใช้ความไวหนีหมัดตัวอื่น คุณเองก็ต้องมี “ถึก” อยู่ค่ะ คือต้องมีแรงทำอย่างนั้นได้ คุณอาจไม่มีวันถึกเท่าคนที่ถึกจริงๆ แต่อย่างน้อยต้องมีเป็นอุปกรณ์อยู่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ที่เราเขียนบทความชุดนี้ขึ้น ก็เพราะมีคนอยากเขียนจำนวนมากเข้าใจผิด หรือไม่ทราบว่าตัวเองเป็นอะไร เมื่อไม่รู้ จึงเข้าหาการเขียนผิดจากธรรมชาติของตัวเอง เช่น เป็นคาแรคเตอร์เบสแต่พยายามเขียนพล็อตและทรีตเมนต์จนจบอย่างดี จากนั้นก็ตายสนิท เขียนต่อไม่ได้

เราจึงอยากให้เข้าใจตัวเองกันก่อน เช่นเข้าใจว่าตัวเองเป็นกระต่าย จะถึกเท่าเขาไม่ได้ แต่ไวกว่าเขาแน่นอน เมื่อเข้าใจแล้ว ก็จะปรับทุกอย่างตามธรรมชาติของตัวเองได้

เราเองยังอยู่บนเส้นทางการเรียนรู้เหมือนกัน มีเรื่องที่รู้และไม่รู้ ทำได้และทำไม่ได้ นี่เป็นความรู้ที่เราทราบมา จึงอยากแชร์และอยากคุยกับทุกคน เขียนมานี้มีคนมาคุย ก็ได้ความรู้เพิ่มหลายอย่าง จึงอยากขอบคุณคนอ่านด้วยค่ะ 🙂

ป.ล.1 เคยเขียนไว้ว่า คาแรคเตอร์เบสก็ใช้ “ความคิด” แต่ใช้ไม่เหมือนพล็อตเบส จึงยกมาอธิบายเพิ่มเติมสักหน่อย

เราคิดว่าคาแรคเตอร์เบสมีแนวโน้มจะใช้ความคิดในเชิงแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หมายความว่าในขณะที่พล็อตเบสมองภาพรวมและวางแผนล่วงหน้าให้เสร็จไปเลย คาแรคเตอร์เบสจะเดินไปกับตัวละคร โยนปัญหาให้ตัวละคร และสนุกกับการแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กับตัวละคร คาดว่าคงคล้ายๆ คนสวนเจอต้นไม้โตมาผิดทรง ก็เล็มๆ มันหน่อย ดัดๆ มันหน่อย

คุณสมบัติข้อนี้ทำให้เรื่องของคาแรคเตอร์เบสมีความสดบางอย่าง เพราะบางทีก็สดจริงๆ เพิ่งคิดได้บัดเดี๋ยวนั้นแหละ แต่บางทีก็ทำให้เรื่องดูทิ่มๆ หรือไม่มีความงดงามในเชิงโครงสร้าง

คุณจะแก้หรือไม่แก้ตรงนี้ก็ได้ คนเขียนบางคนก็ปล่อยไว้ บางคนก็มาเกลาทีหลังให้ทิ่มน้อยลง

ป.ล.2 นี่เป็นคำตอบเกี่ยวกับข้อดีของพล็อตเบส ที่แอดมินปรึกษากัน และตอบคำถามของผู้ติดตามบล็อคท่านหนึ่ง เห็นว่าน่าจะมีประโยชน์ จึงยกมาไว้ที่นี่ด้วยค่ะ

– สิ่งที่คนอ่านจะอ่านซ้ำ คือสิ่งที่ “อ่านแล้วสบายใจ” หรือไม่ก็ “อ่านแล้วฟิน” หรือไม่ก็ “อ่านแล้วตอบสนองอารมณ์ที่ต้องการ”

แต่ทั้งหมดที่บอกมานี่ ไม่ได้แปลว่านักเขียนคาแรคเตอร์เบสทุกคนจะทำได้ บางคนก็เป็นคนมีอารมณ์เศร้ามาก อ่านแล้วดิ่งหายใจไม่ออก คนอ่านก็ไม่อ่านซ้ำเหมือนกัน

– เราคิดว่าสิ่งที่สำคัญมากกว่าอ่านซ้ำ คือให้บางอย่างที่เขาต้องการค่ะ คนเราอาจจะไม่อ่านดาวินชี่โค้ดซ้ำกันบ่อยๆ แต่จำติดใจ กลายเป็นเทรนด์เลยนี่เนอะ 🙂

– พล็อตเบสที่วางเรื่องได้เก่งมากๆ คนอ่านจะอ่านซ้ำค่ะ อ่านจบแล้วแทบจะอ่านซ้ำใหม่เลยบัดเดี๋ยวนั้น เพราะวางแผนไว้ดีมาก โยนปมลงมาเรื่อยๆ โดยคนอ่านไม่ทันรู้ตัว พอถึงจุดทวิสต์ คนอ่านจะออกแนวเฮ้ย แล้วต้องกลับไปดูใหม่ว่าเออ เขาวางมาแล้วนี่นะ อย่างนี้ๆ เอง

– นอกจากนั้น นักเขียนพล็อตเบสบางคนอาจจะมัวแต่สนใจพล็อต แล้วลืมการดีไซน์ตัวละครไป เพราะคิดว่าพล็อตงามก็พอแล้ว แต่ที่จริงสิ่งที่คนอ่านส่วนใหญ่อินคือตัวละครค่ะ ควรสร้างตัวละครที่คนอ่านเห็นภาพชัดว่าเป็นใคร คนอ่านจะได้มีที่เกาะ

ปรกตินักเขียนพล็อตเบสถ้าลงมือดีไซน์ตัวละคร จะดีไซน์ได้สุดกว่านักเขียนคาแรคเตอร์เบสด้วย เพราะไม่ได้เขียนจากตัวเอง ไม่ได้ขึ้นกับตัวเอง เป็นการดีไซน์มาจากภายนอก (ซึ่งแปลว่าในขณะที่คาแรคเตอร์เบสเขียนตัวละครบางแบบแล้วจะเจ็บเกิน ดิ่งเกิน รังเกียจมันเกิน พล็อตเบสจะไม่มีปัญหานี้เลย เพราะไม่ได้สิงมันอยู่) อย่างเช่น L ในเรื่องเดธโน้ตนี่ คนก็จำฝังใจกันนะคะ เป็นเสน่ห์ของเรื่องเลย

2 thoughts on “บันทึกเรื่อยเปื่อย : Character-based กับ Plot-based (จบ)

  1. ไล่อ่านอีกรอบตั้งแต่เริ่มยันจบ ยังงงอยู่ว่าตัวเองอยู่สายไหน T T
    ตอนแรกคิดว่าตัวเองเป็นคาแรคเตอร์เบสมาตลอด เพราะอินมากเวลาเขียน บางฉากนอยด์จัดเขียนต่อไม่ได้ ต้องไปทำอย่างอื่น ข้ามวันนู่นกว่าจะได้เขียนอีก
    มีนักอ่านให้ฟีดแบ็กว่าฉากนี้อ่านแล้วหวานมุ้งมิ้งมากนะ ฉากนี้เศร้านะ ร้องไห้ตามเลย ฉากนี้อ่านแล้วอึดอัดนะ หายใจไม่ออกเลย
    ก็คิดว่าตัวเองน่าจะจมอยู่ เพราะตอนเขียนนี่แทบไม่รู้สึกถึงโลกรอบตัวเลยค่ะ คือวืดไปในจุดที่ตัวละครอยู่เลย เหมือนสิงเข้าไป ยิ้มด้วยกัน ร้องไห้ด้วยกัน อะไรแบบนั้น

    แต่พอมาอ่านพลอตเบส ก็เหมือนเป็นตัวเองเหมือนกัน เพราะจะวางโครงเรื่องจากเริ่มจนจบไว้ กันออกทะเล แล้วก็ชอบให้ตัวเองรู้ว่าเรื่องมันจะไปยังไงมายังไงด้วยค่ะ
    วางพลอตไว้แบบนี้แล้วมันทำให้เขียนได้ไว จบตามที่แพลนไว้

    เวลาเขียนก็เขียนไปตามพลอต แต่บ่อย ๆ ที่ตัวละครไม่ทำตามที่วางไว้ ก็ปล่อยให้เค้าตัดสินใจของเค้าเองว่าจะไปแบบไหน เราก็คอยตบ ๆ ให้เข้าที่ ไม่ให้ออกทะเล

    ตกลงหนูอยู่สายไหนคะเนี่ยพี่ปัน T T

    Like

    • ก็คงทั้งเป็นสายกลางๆ แต่หนักข้างคาแรคเตอร์มากกว่าหน่อยมั้งนิ

      Like

Leave a comment